ผลของโปรแกรมการกระตุ้นลุกจากเตียงโดยเร็วภายหลังผ่าตัดในผู้ป่วยหลังผ่าตัดช่องท้อง ของแผนกศัลยกรรมโรงพยาบาลพิจิตร

ผู้แต่ง

  • ณัชชารินทร์ วรโชติทวีวัฒน์ พย.บ. โรงพยาบาลพิจิตร
  • พัชรี จำเนียร พย.บ. โรงพยาบาลพิจิตร
  • ศุภานัน ทองทวีโภคิน พย.ม. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สวรรค์ประชารักษ์
  • นลินี เกิดประสงค์ พย.ด. วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สวรรค์ประชารักษ์

คำสำคัญ:

ผู้ป่วยผ่าตัดช่องท้อง, การกระตุ้นลุกจากเตียงโดยเร็ว, ภายหลังผ่าตัด

บทคัดย่อ

การผ่าตัดช่องท้องมีจุดประสงค์เพื่อวินิจฉัยหรือรักษาอวัยวะที่ผิดปกติต่างๆในช่องท้องและอุ้งเชิงกราน ซึ่งการผ่าตัดเป็นการรักษาโรคแต่ก็มีผลกระทบเกิดขึ้น เช่น การทำลายเนื้อเยื่อร่างกายทำให้สูญเสียเลือด มีการบาดเจ็บและปวดบริเวณผ่าตัด มีความเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรคเข้าร่างกายทำให้เกิดการติดเชื้อได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยยังเกิดอาการข้างเคียงของการได้รับยาระงับความรู้สึกโดยเกิดจากการที่กระเพาะอาหารและลำไส้มีการยืดขยายและโป่งพองเนื่องจากมีการสะสมของแก๊สจำนวนมากที่ไม่ดูดซึมในลำไส้ ทำให้ผู้ป่วยจะมีอาการท้องอืดและปวดท้อง เนื่องจากมีลมคั่งในทางเดินอาหารมาก โดยพบภาวะท้องอืดหลังผ่าตัดช่องท้องเกิดขึ้นชั่วคราวใน 24–72 ชั่วโมง ซึ่งภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จะทำให้ผู้ป่วยต้องพักรักษาตัวนานขึ้นและสูญเสียค่าใช้จ่ายมากขึ้น

          วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยความรู้เกี่ยวกับการลดความปวดและระดับความปวด ก่อนและหลังการได้รับโปรแกรมการกระตุ้นลุกจากเตียงโดยเร็วภายหลังผ่าตัดในกลุ่มทดลอง และศึกษาเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยความรู้เกี่ยวกับการลดความปวดและระดับความปวด ก่อนและหลังการได้รับโปรแกรมฯ ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม

          วิธีการศึกษา: เป็นการวิจัยแบบกึ่งทดลองแบบสองกลุ่มในผู้ป่วยหลังผ่าตัดช่องท้อง แผนกศัลยกรรมโรงพยาบาลพิจิตร จำนวนกลุ่มละ 30 ราย เครื่องมือในการวิจัย คือ โปรแกรมการกระตุ้นลุกจากเตียงโดยเร็วภายหลังผ่าตัดในผู้ป่วยหลังผ่าตัดช่องท้อง มีดัชนีความเที่ยงตรงของเนื้อหา เท่ากับ 0.85 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบทดสอบความรู้เกี่ยวกับการกระตุ้นลุกจากเตียงโดยเร็วภายหลังผ่าตัด มีค่า KR-20 เท่ากับ 0.75 และแบบประเมินความรุนแรงของความปวด โดยใช้สถิติพรรณนา การทดสอบค่าทีแบบสัมพันธ์กัน (paired t test) และค่าทีเป็นอิสระจากกัน (independent t test)

          ผลการศึกษา: ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ร้อยละ 66.7 มีอายุอยู่ระหว่าง 51–60 ปี ร้อยละ 50 การศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา ร้อยละ 46.7 มีอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 36.7 และไม่มีโรคประจำตัว ร้อยละ 53.3 ภายหลังการได้รับโปรแกรมฯกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความรู้เพิ่มขึ้นและระดับความปวดลดลง และมีคะแนนเฉลี่ยความรู้เพิ่มขึ้นและระดับความปวดลดลงมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001            

          สรุป: การส่งเสริมการลุกเดินจากเตียงโดยเร็วภายหลังผ่าตัดเป็นสิ่งสำคัญและเป็นบทบาทอิสระของพยาบาลวิชาชีพในการดูแลผู้ป่วย ที่จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ โปรแกรมนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในผู้ป่วยผ่าตัดกลุ่มอื่นเพื่อลดความเจ็บปวด

 

References

จุฑารัตน์ สว่างชัย, ศรีสุดา งามขำ. ความปวดของผู้ป่วยหลังผ่าตัดช่องท้องโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์. วารสารวิจัยทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ 2560;11(ฉบับพิเศษ):1–11.

นภาพร วงศ์วิวัฒนนุกิจ. บทบาทพยาบาลในการส่งเสริมการฟื้นตัวการทำงานของลำไส้หลังการผ่าตัดช่องท้อง. พยาบาลสาร 2562;46(4):193–201.

Buttenschoen K, Fathimani K, Buttenschoen DC. Effect of major abdominal surgery on the host immune response to infection. Curr Opin Infect Dis 2010;23:259–67. doi: 10.1097/QCO.0b013e32833939cb.

งานเวชระเบียนและสถิติ โรงพยาบาลพิจิตร. สถิติผู้ป่วยใน. พิจิตร: โรงพยาบาลพิจิตร; 2565.

Cohen J. Statistical power analysis for the behavior sciences. 2nd ed. Hillsdale, NJ: Lawrence Erlbaum Associate; 1988.

McCaffery M, Beebe A. Pain: clinical manual for nursing practice. Toronto: C.V. Mosby; 1989.

ศิริพรรณ ภมรพล. บทบาทพยาบาลในการส่งเสริมการลุกเดินจากเตียงโดยเร็วภายหลังผ่าตัด. วารสารพยาบาลสภากาชาดไทย 2559;9(2):14–23.

Lemone P, Burke K. Medical surgical nursing: critical thinking in client care. 3rd ed. New Jersey: Pearson prentice hall; 2004.

จำเนียร คงประพันธ์, พัชรพรรณ เวียงเก่า และธันยธรณ์ เหมืองอุ่น. ผลของโปรแกรมส่งเสริมการดูแลตนเองอย่างมีแบบแผนหลังผ่าตัดในผู้ป่วยนรีเวชกรรมต่อการฟื้นสภาพของผู้ป่วยหลังผ่าตัดทางหน้าท้อง. Journal of the Phrae hospital 2562;27(1):1–10.

วิริยา ศิลา. ผลของโปรแกรมการจัดการอาการของผู้ป่วยนรีเวชหลังผ่าตัดทางหน้าท้องต่ออาการปวด หลังผ่าตัดและอาการท้องอืดที่โรงพยาบาลระดับตติยภูมิแห่งหนึ่ง. วารสารมหาวิทยาลัยคริสเตียน 2561;24(2):204–215.

อรวรรณ หลงเวช, ผ่องศรี ศรีมรกต, สุพร ดนัยดุษฎีกุล, และคณะ. ผลของโปรแกรมการฟื้นฟูสภาพโดยเร็วต่อความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้ป่วยหลังผ่าตัดระบบทางเดินอาหารแบบเปิดช่องท้อง. วารสารสภาการพยาบาล 2563;35(2):32–51.

เผยแพร่แล้ว

2023-12-30