การพัฒนารูปแบบการให้บริการกายภาพบำบัดในผู้สูงอายุเขตสุขภาพที่ 10

ผู้แต่ง

  • นิจกานต์ ตันอุ่นเดช กลุ่มงานกายภาพบำบัด รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี
  • ปฐมาว์ ดวงดี กลุ่มงานกายภาพบำบัด รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี
  • สิทธิพล นันทะจักร กลุ่มงานกายภาพบำบัด รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี
  • สุทธิกานต์ เสพสุข กลุ่มงานกายภาพบำบัด รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี
  • อุไรพร ปรางศรี กลุ่มงานกายภาพบำบัด รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี

บทคัดย่อ

         ปัจจุบันความก้าวหน้าด้านการแพทย์และสาธารณสุขส่งผลให้อัตราการตายผู้ป่วยลดลง จำนวนและสัดส่วนของประชากรผู้สูงอายุไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คาดว่าภายในปี 2568 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ  ข้อมูลจากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศปี 2552 พบว่ามีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 85 สามารถดูแลตนเองได้ และจากฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครองปี 2554 พบว่าจังหวัดในเครือข่ายสุขภาพเขต10 มีประชากรอายุ 60ปีขึ้นไปมากสุดที่จังหวัดอุบลราชธานี 196,750 คน รองลงมาคือจังหวัดศรีสะเกษ 169,175 คน และข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดอุบลราชธานีปี 2556 พบผู้สูงอายุติดสังคมร้อยละ84.43 การส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในระยะที่ยังสามารถช่วยเหลือตนเองได้คือระยะติดสังคมจึงมีความสำคัญ แต่รูปแบบการส่งเสริมสุขภาพมีความหลากหลาย ไม่เป็นรูปแบบเดียวกันและการดำเนินกิจกรรมไม่มีความต่อเนื่อง ดังนั้นเครือข่ายกายภาพบำบัดเขต 10 จึงได้พัฒนารูปแบบการให้บริการกายภาพบำบัดในผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการตรวจประเมินสมรรถภาพ การบริการกายภาพบำบัดอย่างเหมาะสม และการติดตามอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สามารถดูแลตนเองได้ และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

        วิธีการศึกษา:  เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา (Descriptive study)  กลุ่มประชากรคือผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปทุกรายในเขตสุขภาพที่ 10 ช่วงเวลาดำเนินการระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2558 ถึง 20 มิถุนายน 2559 มีการพัฒนารูปแบบการให้บริการผู้สูงอายุ ดังนี้ 1. กรรมการเครือข่ายกายภาพบำบัดร่วมกันทบทวนวรรณกรรม 2. จัดอบรมวิชาการ 3. จัดรูปแบบการให้บริการกายภาพบำบัดในผู้สูงอายุและทำเป็นโปรแกรมออนไลน์  PT Aging network   4. ฝึกอบรมการใช้งานโปรแกรม 5.นักกายภาพบำบัดโรงพยาบาลต่างๆจัดบริการในผู้สูงอายุ เก็บรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา

       ผลการศึกษา: มีการนำรูปแบบการให้บริการกายภาพบำบัดในผู้สูงอายุ PT Aging network มาให้บริการผู้สูงอายุในเขตสุขภาพที่ 10 จำนวน 1,963 ราย พบว่าอายุเฉลี่ยผู้สูงอายุ 73 ปี เป็นผู้สูงอายุติดสังคมร้อยละ 97.45 มีอาชีพเป็นเกษตรกรร้อยละ 82.09  ใช้อุปกรณ์ช่วยเดินร้อยละ 7.29 และเคยหกล้มร้อยละ 11.32 ผู้สูงอายุผ่านเกณฑ์การประเมินสมรรถภาพทางกายในด้านต่างๆดังนี้ ความแข็งแรงกล้ามเนื้อขา ร้อยละ 42.79 ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อแขนร้อยละ 84.98 ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อมือร้อยละ 75.84 ความทนทานในการทำงานร้อยละ 65.66 ความยืดหยุ่นของร่างกายส่วนบนร้อยละ 56.18 ความยืดหยุ่นของร่างกายส่วนล่างร้อยละ 95.20 การทรงตัวร้อยละ 72.42 และการเดินร้อยละ 63.99 การบริการกายภาพบำบัด  3 อันดับแรกคือ คำแนะนำวิธีการดูแลสุขภาพ การฝึกความยืดหยุ่น การฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ยังพบว่ามีการนำโปรแกรมไปให้บริการในผู้สูงอายุเขตอื่นในประเทศไทย จำนวน831คน ส่งผลให้ผู้สูงในประเทศไทยได้รับบริการทั้งหมด 2,794 คน ดังนั้นการพัฒนารูปแบบการให้บริการกายภาพบำบัดในผู้สูงอายุ โดยจัดทำเป็นโปรแกรม PT Aging network สามารถนำมาประเมินและให้บริการผู้สูงอายุได้อย่างเหมาะสมกับปัญหา รวมทั้งการติดตามประเมินอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลให้ผู้สูงอายุ สามารถช่วยเหลือตนเองได้และอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข

       คำสำคัญ: กายภาพบำบัด ,การประเมินสมรรถภาพ ,ผู้สูงอายุ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-02-15