ความสัมพันธ์ระหว่างระดับเอนไซม์ ADA ในเยื่อหุ้มหัวใจ กับการวินิจฉัยวัณโรค เยื่อหุ้มหัวใจ ในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธาน

ผู้แต่ง

  • ศุภสา นิยมพานิชการ กลุ่มงานอายุรกรรม รพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี
  • รติพร บาลโสง หน่วยอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ กลุ่มงานอายุรกรรม รพ.สรรพสิทธิประสงค์
  • สุวัตถิยา กิจศรันย์ อายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ กลุ่มงานอายุรกรรม รพ.สรรพสิทธิประสงค์
  • คนึงนิตย์ เซมรัมย์ หน่วยอายุรศาสตร์โรคติดเชื้อ กลุ่มงานอายุรกรรม รพ.สรรพสิทธิประสงค์
  • ปริญญา ชำนาญ กลุ่มวิจัยโรคทางคาร์ดิโอเมตาบอลิก รพ.สรรพสิทธิประสงค์

บทคัดย่อ

บทนำ: วัณโรคเยื่อหุ้มหัวใจ เป็นการติดเชื้อที่อาจพบได้ไม่มากนัก แต่ก่อให้เกิดการเสียชีวิตและภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ซึ่งปัจจุบันยังมีข้อจำกัดในการวินิจฉัยหลายประการ จึงอาจทำให้วินิจฉัยล่าช้าหรือผิดพลาดได้ ระดับเอนไซม์ ADA ในน้ำเยื่อหุ้มหัวใจเป็นสิ่งที่สามารถบ่งบอกถึงการติดเชื้อวัณโรคได้เช่นกัน แต่ข้อมูลปัจจุบันพบว่ามีค่า จุดตัดของการวินิจฉัยที่แตกต่างกันตามความชุกของวัณโรคในแต่ละประเทศ


วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของระดับเอนไซม์ ADA ในเยื่อหุ้มหัวใจ กับการวินิจฉัยโรควัณโรคเยื่อหุ้มหัวใจแบบ Definitive TB pericarditis


วิธีการ: การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบ Cross-sectional analytic study ทำการเก็บข้อมูลผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยด้วยรหัสโรค ICD10 A188 ในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2557 ถึง 1 มีนาคม พ.ศ.2562 โดยได้เก็บข้อมูลระดับเอนไซม์ ADA ในน้ำเยื่อหุ้มหัวใจ และปัจจัยทางคลินิกอื่น ๆ จาก การทบทวนเวชระเบียน และนำข้อมูลมาวิเคราะห์ความสามารถในการทำนายการวินิจฉัยโดยใช้ AROC ค่าความไว ค่าความจำเพาะ ค่าทำนายผลบวก และค่าทำนายผลลบ


ผลการศึกษา: ผู้ป่วยในการศึกษามีทั้งหมด 58 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วย Definitive TB pericarditis 32 ราย Probable TB pericarditis diagnosis 21 ราย และ Non-TB pericarditis 5 ราย โดยผู้ป่วยทุกคนได้รับการตรวจน้ำเยื่อหุ้มหัวใจและทำ Pericardial biopsy ทุกราย ไม่มีผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีในการศึกษา AROC ของระดับ เอนไซม์ ADA น้ำเยื่อหุ้มหัวใจในการทำนายโรค Definitive TB pericarditis เท่ากับ 0.561 โดยจุดตัดที่มีค่า AROC สูงที่สุดคือเอนไซม์ ADA ที่ ≥50 ยูนิต/ลิตร ขึ้นไป มีค่า AROC เท่ากับ 0.599 ค่าความไวร้อยละ 81.25 ค่าความจำเพาะร้อยละ 38.46 ค่าทำนายผลบวกเท่ากับ 61.90 และค่าทำนายผลลบเท่ากับ 62.50 แต่ อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่ามีความแตกต่างของระดับเอนไซม์ ADA น้ำเยื่อหุ้มหัวใจในแต่ละจุดตัดอย่างมีนัยยะสำคัญ


สรุป: ระดับเอนไซม์ ADA น้ำเยื่อหุ้มหัวใจมีความสามารถในการวินิจฉัยวัณโรคเยื่อหุ้มหัวใจได้ไม่ดี จากการศึกษา ไม่พบค่าจุดตัดที่เหมาะสมที่สุดในการช่วยวินิจฉัย การนำค่าระดับเอนไซม์ ADA ในน้ำเยื่อหุ้มหัวใจมาใช้ในการ วินิจฉัยวัณโรคเยื่อหุ้มหัวใจในประเทศไทย จึงต้องแปลผลอย่างระมัดระวัง ควรแปลผลร่วมกับลักษณะทางคลินิก และผลตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วยเสมอ และควรส่ง Pericardial biopsy ทุกราย


คำสำคัญ: วัณโรคเยื่อหุ้มหัวใจ วินิจฉัย น้ำคั่งเยื่อหุ้มหัวใจ เอนไซม์ ADA น้ำเยื่อหุ้มหัวใจ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-02-15