อัตรารอดชีวิตและภาวะผิดปกติที่ตามมาของทารก เกิดก่อนกําหนดนํ้าหนักตัวน้อยมาก ในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์

ผู้แต่ง

  • ยุพเยาว์ สิงห์อาจ กุมารแพทย์ กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี

คำสำคัญ:

ทารกนํ้าหนักตัวน้อยมาก ทารกเกิดก่อนกําหนด อัตรารอดชีวิต ภาวะผิดปกติในภายหลัง

บทคัดย่อ

          ทารกเกิดก่อนกําหนดนํ้าหนักตัวน้อยมากเป็นทารกกลุ่มเสี่ยงสูงต่อภาวะเจ็บป่วยและเสียชีวิต ทารกที่รอดชีวิตมักมีภาวะผิดปกติที่ตามมาในภายหลังหรือความพิการ งานวิจัยนี้ต้องการศึกษาอัตรารอดชีวิตและภาวะแทรกซ้อนของทารกนํ้าหนักตัวน้อยมาก โดยเป็นการศึกษาแบบย้อนหลังเชิงพรรณนาในทารกนํ้าหนักแรกเกิดตํ่ากว่า 1,500 กรัม และอายุครรภ์น้อยกว่า 34 สัปดาห์ ที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2552 ถึง 31 ธันวาคม 2553 และติดตามศึกษาภาวะผิดปกติที่ตามมาภายหลังจนถึงอายุ 1 ปี มีทารกเข้าเกณฑ์การศึกษา 177 ราย รอดชีวิต 78 ราย คิดเป็นอัตรารอดชีวิตร้อยละ 44.06 ภาวะผิดปกติตามมาที่พบบ่อยคือ จอประสาทตาผิดปกติในทารกเกิดก่อนกําหนดร้อยละ 45.76 รองลงมา คือ เลือดออกในโพรงสมองร้อยละ 25 และภาวะปอดเรื้อรังร้อยละ 21.73 ส่วนภาวะผิดปกติภายหลังใน ระยะยาวพบสมองพิการร้อยละ 8.33 และนํ้าคั่งในโพรงสมองร้อยละ 4 ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าทารกเกิดก่อนกําหนดนํ้าหนักตัวน้อยมากในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ยังมีอัตรารอดชีวิตน้อย เพื่อเพิ่มอัตรารอดชีวิตและลดภาวะผิดปกติที่ตามมาในภายหลังหรือความพิการจําเป็นต้องพัฒนาปัจจัยด้านการฝากครรภ์คุณภาพ การดูแลรักษา และการเพิ่มศักยภาพของหอทารกผู้ป่วยหนัก

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-08-01