ลักษณะทางคลินิกและผลลัพธ์ของผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะอ้วน ที่มารักษาในโรงพยาบาลเสนา
คำสำคัญ:
ผู้ป่วยโควิด-19, ภาวะอ้วน, โรงพยาบาลเสนาบทคัดย่อ
หลักการและเหตุผล: โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่กำลังแพร่ระบาดไปทั่วโลก มีลักษณะทางคลินิกหลายระดับ โดยภาวะอ้วน เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของการดำเนินโรคที่รุนแรงและภาวะแทรกซ้อนที่ตามมา การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะทางคลินิกและผลลัพธ์ของผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะอ้วน เพื่อนำข้อมูลเป็นแนวทางวางแผนดูแลรักษาผู้ป่วยต่อไป
วัสดุและวิธีการ: ศึกษาข้อมูลย้อนหลังเชิงพรรณา ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ที่มีผลการตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR และมีภาวะอ้วน (ดัชนีมวลกาย ≥ 30 Kg/m2) ที่รักษาในโรงพยาบาลเสนา ตั้งแต่ มิถุนายน - สิงหาคม 2564 โดยศึกษาข้อมูลพื้นฐาน ลักษณะทางคลินิก ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการ ผลตรวจทางรังสีวิทยา การดำเนินโรค การรักษาที่ได้รับ ภาวะแทรกซ้อนและผลลัพธ์การรักษา
ผลการศึกษา: ผู้ป่วยทั้งหมด 96 คน เพศชาย 33 คน (ร้อยละ 34.4) อายุเฉลี่ย 46.6 ปี โรคประจำตัวที่พบมากที่สุด ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง ร้อยละ 95.83 ไม่เคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาก่อน อาการที่พบมากที่สุด คือ ไอ ไข้ เหนื่อย ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการผิดปกติที่พบมากที่สุด คือ การเพิ่มขึ้นของ C-reactive protein ผลเอ็กซเรย์ปอดผิดปกติมากที่สุด คือ ground-glass opacities ที่ปอด 2 ข้าง ผู้ป่วยร้อยละ 72.91 มีอาการรุนแรงระดับปานกลาง หลังสิ้นสุดการรักษา พบอาการทุเลา 88 ราย (ร้อยละ 91.67) เสียชีวิต 8 ราย (ร้อยละ 8.33) จำนวนวันนอนโรงพยาบาลเฉลี่ย 12.86 วัน
สรุป: ลักษณะทางคลินิกและผลลัพธ์ของผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะอ้วน ที่มารักษาในโรงพยาบาลเสนา เป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการวางแนวทางในการดูแลรักษาผู้ป่วย เพื่อลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนและการเสียชีวิต
คำสำคัญ: ผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีภาวะอ้วน