การศึกษาเปรียบเทียบปริมาณเลือดหลังคลอดระหว่างการประเมินด้วยสายตาและการใช้ถุงรองเลือดในหญิงตั้งครรภ์ที่คลอดทางช่องคลอดในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์
คำสำคัญ:
การประเมินเลือดหลังคลอด, ถุงรองเลือด, ภาวะตกเลือดหลังคลอดบทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบปริมาณการเสียเลือดหลังคลอด ระหว่างวิธีการประเมินด้วยถุงตวงเลือดและการประเมินด้วยสายตาในสตรีตั้งครรภ์ที่คลอดบุตรทางช่องคลอด
วัสดุและวิธีการ: การศึกษาทดลองแบบสุ่มทำในสตรีตั้งครรภ์ที่มาคลอดบุตรทางช่องคลอดที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ช่วงระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2559 ถึงเดือนเมษายน 2560 อาสาสมัครจำนวน 320 คนที่เข้ามาในการศึกษาถูกแบ่งออกเป็นกลุ่มคู่ขนาน 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่ 1 ประเมินโดยใช้ถุงตวงเลือด และกลุ่มที่ 2 กลุ่มประเมินด้วยสายตา โดยกลุ่มที่ 1 นั้นจะถูกประเมินปริมาณการเสียเลือดโดยวิธีถุงตวงเลือดเท่านั้น ส่วนกลุ่มที่ 2 นั้นจะประเมินปริมาณการเสียเลือดด้วยสายตาร่วมกับวิธีถุงตวงเลือด ทำการเก็บข้อมูลทางคลินิกของอาสาสมัคร ประวัติการคลอด และภาวะแทรกซ้อนของทารกแรกเกิดและภาวะแทรกซ้อนหลังคลอด
ผลการศึกษา: ในอาสาสมัคร 312 คนที่เข้ามาในการศึกษา พบอาสาสมัคร 4 คนในกลุ่มใช้ถุงตวงเลือด และ 7 คนในกลุ่มประเมินด้วยสายตา ที่ถูกคัดออกเนื่องจากคลอดโดยการผ่าตัดคลอดและข้อมูลไม่ครบ เหลืออาสาสมัคร 301 คนในการวิเคราะห์ ค่ามัธยฐานปริมาณเสียเลือดหลังคลอดแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่ม โดยที่กลุ่มถุงตวงเลือดได้ 349.1 มิลลิลิตรและกลุ่มการประเมินด้วยสายตาได้ 320 มิลลิลิตร (P=0.01) เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบในกลุ่มที่ได้รับการประเมินด้วยทั้งสองวิธี พบว่ามัธยฐานปริมาณเลือดที่ประเมินประเมินด้วยสายตาได้ 320 มิลลิลิตร แตกต่างกับปริมาณเลือดที่เสียจริงหลังคลอดจากการใช้ถุงตวงเลือด 377.1 มิลลิลิตร อย่างมีนัยสำคัญ (P< 0.001) ภาวะตกเลือดหลังคลอดไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่ม โดยในกลุ่มประเมินด้วยถุงตวงเลือดพบร้อยละ 17.1 ขณะที่กลุ่มที่การประเมินด้วยสายตาพบร้อยละ 25.5 ส่วนการเปลี่ยนแปลงค่าของฮีโมโกลบิน ความเข้มข้นของเลือด ก้อนเลือดคั่งบริเวณฝีเย็บ การได้รับเลือด ทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ
สรุป: การประเมินปริมาณการเสียเลือดหลังคลอดโดยใช้ถุงตวงเลือดมีความแม่นยำมากกว่ามากกว่าการประเมินด้วยสายตาในสตรีตั้งครรภ์ที่คลอดบุตรทางช่องคลอด