การเปรียบเทียบผลการผ่าตัดมดลูกระหว่าง การผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้องและการผ่าตัดส่องกล้องทางช่องคลอด ในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์

ผู้แต่ง

  • วิศิษฐ์ วรนิทัศน์ กลุ่มงานสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี

คำสำคัญ:

การผ่าตัดมดลูก, การผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้อง, การผ่าตัดส่องกล้องทางช่องคลอด

บทคัดย่อ

บทนำ:  การผ่าตัดมดลูกเป็นหัตถการที่พบได้บ่อยในเวชปฏิบัติทางสูตินรีเวช ปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทำให้มีเทคนิคการผ่าตัดที่ทันสมัย ดังเช่นการผ่าตัดมดลูกผ่านการส่องกล้องทางช่องคลอด ซึ่งเป็นอีกทางเลือกสำหรับการผ่าตัด

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบผลการผ่าตัดมดลูกระหว่างการส่องกล้องทางหน้าท้องและการส่องกล้องทางช่องคลอด

วัสดุและวิธีการ: เก็บข้อมูลย้อนหลังจากเวชระเบียนผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดมดลูกแบบส่องกล้องผ่านทางหน้าท้อง (TLH) และ การผ่าตัดมดลูกผ่านการส่องกล้องทางช่องคลอด (vNOTES) ระหว่าง 1 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ถึง 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 ที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์

ผลการศึกษา: กลุ่มตัวอย่าง 84 ราย แบ่งเป็นผ่าตัดมดลูกโดยการส่องกล้องทางหน้าท้อง 51 ราย ผ่าตัดมดลูกโดยการส่องกล้องทางช่องคลอด 33 ราย พบว่าระดับความปวดหลังผ่าตัด 6 ชั่วโมง และ 24 ชั่วโมงของกลุ่มผ่าตัดส่องกล้องทางหน้าท้อง (VAS score = 6, IQR 3-8 และ VAS score = 4, IQR 2-6) มากกว่ากลุ่มผ่าตัดส่องกล้องทางช่องคลอด (VAS score = 4, IQR 3-8 และ VAS score = 3, IQR 2-6) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001 และ p<0.001) แต่ระยะเวลาการผ่าตัด การเปลี่ยนแปลงของระดับฮีโมโกลบิน น้ำหนักชิ้นเนื้อ ปริมาณการเสียเลือดขณะผ่าตัด ระยะเวลาพักฟื้นในโรงพยาบาล การเปลี่ยนวิธีการผ่าตัด และการเกิดภาวะแทรกซ้อนไม่แตกต่างกัน

สรุป: การผ่าตัดมดลูกผ่านการส่องกล้องทางช่องคลอด มีประสิทธิภาพและความปลอดภัยเท่ากับการผ่าตัดมดลูกแบบส่องกล้องผ่านทางหน้าท้อง อีกทั้งยังมีความเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อยกว่า จึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ป่วยทางนรีเวชที่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดมดลูก

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2023-07-26