การนำเข้าข้อมูลบทความ (articles) และข้อมูลการอ้างอิง (citations) ของบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารฉบับพิเศษ (special issues) และวารสารฉบับเพิ่มเติม (supplemental issues) เข้าสู่ฐานข้อมูล TCI

20-08-2020

ตามที่ได้มีกองบรรณาธิการวารสารและหน่วยงานต่างๆ จำนวนมาก สอบถามมายังศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (ศูนย์ TCI) เรื่อง
การนำเข้าข้อมูลบทความ (articles) และข้อมูลการอ้างอิง (citations) ของบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารฉบับพิเศษ (special issues) และ
วารสารฉบับเพิ่มเติม (supplemental issues) เข้าสู่ฐานข้อมูล TCI นั้น
ศูนย์ TCI ขอประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่า
1) ศูนย์ TCI จะนำเข้าเฉพาะข้อมูลบทความและข้อมูลการอ้างอิงของบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารฉบับปกติ (regular issues)
และฉบับพิเศษ (special issues) ตามความหมายที่ได้ระบุไว้ข้างล่างของประกาศนี้เท่านั้น เข้าสู่ฐานข้อมูล TCI
2) ศูนย์ TCI จะไม่นำเข้าข้อมูลของบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารฉบับเพิ่มเติม (supplemental issues) เข้าสู่ฐานข้อมูล TCI
ยกเว้นในกรณีที่ วารสารได้กำหนดไว้ในนโยบายของวารสารอย่างชัดเจนว่าจะมีการตีพิมพ์ วารสารฉบับเพิ่มเติม เป็นประจำทุก
ปี โดยต้องระบุจำนวนฉบับ/ปีของวารสารฉบับเพิ่มเติมอย่างชัดเจน และบทความที่ตีพิมพ์ในวารสารฉบับเพิ่มเติมนี้ จะต้องผ่าน
กระบวนการ peer review อย่างเข้มข้น รวมทั้งมีจำนวนบทความใกล้เคียงกันกับวารสารในฉบับปกติ
อนึ่ง ทาง TCI จะไม่นำเข้าข้อมูลของบทความและข้อมูลการอ้างอิงของวารสารที่ตีพิมพ์บทความจากการประชุมทางวิชาการ
โดยไม่มีการคัดเลือกบทความ (selected articles) และ/หรือ ไม่มีกระบวนการ peer review ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม
วิชาการแล้ว
เพื่อให้เกิดความเข้าใจและมีแนวปฏิบัติที่ตรงกัน ศูนย์ TCI ขอเรียนให้ทราบ ดังนี้
1) “วารสารฉบับปกติ” (regular issues) หมายถึง วารสารที่ตีพิมพ์ตามกำหนดออกหรือจำนวนฉบับ (issues) ที่ได้ระบุไว้ใน
นโยบายการตีพิมพ์ของวารสาร และ/หรือ ระบุไว้ชัดเจนบนเว็บไซต์ของวารสาร และมีกระบวนการพิจารณาคุณภาพบทความที่
ใช้การ peer review อย่างเข้มข้น
2) “วารสารฉบับพิเศษ” (special issues) หมายถึง วารสารที่ตีพิมพ์บทความโดยใช้ฉบับปกติ (regular issues) ตามกำหนดออก
ที่ได้ระบุไว้ในนโยบายการตีพิมพ์ของวารสาร แต่มีความพิเศษเนื่องจากเป็นการตีพิมพ์ในโอกาสสำคัญต่างๆ หรือมีความพิเศษ
เนื่องจากเป็นการตีพิมพ์เฉพาะเรื่อง (themes or specific topics) เป็นต้น โดยบทความใน special issues นี้ จะต้องผ่าน
กระบวนการ peer review อย่างเข้มข้นเช่นเดียวกับฉบับปกติ และมีจำนวนบทความในฉบับใกล้เคียงกับฉบับปกติ ยกตัวอย่าง
เช่น วารสาร A กำหนดว่าจะมีการตีพิมพ์ 4 ฉบับต่อปี และกองบรรณาธิการ เลือกฉบับใดฉบับหนึ่งใน 4 ฉบับเป็น special
issues เมื่อครบปี วารสาร A ยังคงมีจำนวนฉบับรวมเท่ากับ 4 ฉบับ ในปีนั้นๆ
3) “วารสารฉบับเพิ่มเติม” (supplemental issues) หมายถึง วารสารที่ตีพิมพ์บทความในฉบับที่นอกเหนือจากฉบับปกติตาม
กำหนดออก ที่ได้ระบุไว้ในนโยบายการตีพิมพ์ของวารสาร ยกตัวอย่างเช่น วารสาร A กำหนดว่าจะมีการตีพิมพ์ 4 ฉบับต่อปี
หากจะตีพิมพ์เป็น supplemental issues วารสาร A ก็จะมีจำนวนฉบับมากกว่า 4 ฉบับในปีนั้นๆ
ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาคุณภาพของบทความวิจัย และจำนวนบทความรวมในแต่ละปีให้ใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นไปตามมาตรฐานในการ
ดำเนินงานของวารสารสากลทั่วไป โดยประกาศดังกล่าวนี้เริ่มใช้กับวารสารในฐานข้อมูล TCI ที่ออกฉบับในปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2562