ผลทันทีของการนวดพื้นฐานแบบราชสำนักร่วมกับการประคบสมุนไพรต่ออัตราการแปรปรวนของการเต้นของหัวใจในอาสาสมัครที่มีภาวะเครียด

Main Article Content

ปริยาภัทร สิงห์ทอง

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลทันทีของการนวดพื้นฐานแบบราชสำนักร่วมกับการประคบสมุนไพรต่อความแปรปรวนของอัตราการเต้นของหัวใจในอาสาสมัครที่มีภาวะความเครียด อาสาสมัครเข้าร่วมการทำวิจัยในครั้งนี้ทั้งหมด 90 คน มีอายุระหว่าง 18-40 ปี แบ่งกลุ่มอาสาสมัครออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 30 คน คือ กลุ่มนวดพื้นฐานแบบราชสำนัก กลุ่มนวดพื้นฐานแบบราชสำนักร่วมกับการประคบสมุนไพร และกลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับการนวด อาสาสมัครที่เข้าร่วมการทำวิจัย จะได้รับการประเมินระดับความเครียด ทำแบบทดสอบคณิตศาสตร์ จากนั้นอาสาสมัครจะได้วัดอัตราการแปรปรวนของการเต้นของหัวใจทั้งก่อนและหลังการทำวิจัย ใช้เวลากลุ่มละ 45-60 นาที จากผลการวิจัยพบว่า กลุ่มนวดพื้นฐานแบบราชสำนัก มีค่าความดันซิสโตลิก ค่าอัตราการเต้นของหัวใจ (Mean HRT) และค่าความเหนื่อยล้าอ่อนเพลีย (Fatigue Index) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) ส่วนค่าการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ (ANS Activity) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) กลุ่มนวดพื้นฐานแบบราชสำนักกับประคบ ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) แต่กลุ่มควบคุม พบว่า ค่าระดับความตึงเครียดทางกาย (PSI) ค่าระดับความตึงเครียดของร่างกาย (Stress Index) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) และค่าความทนทานต่อความเครียด (Stress Resistance) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มหลังการทดลอง พบว่า ค่าการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ (ANS Activity) และค่าระดับความตึงเครียดของร่างกาย (Stress Index) มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) ดังนั้นควรมีการศึกษานวดพื้นฐานราชสำนักต่ออัตราการแปรปรวนการเต้นของหัวใจในระยะยาวต่อไป

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ