การเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยในการใช้สมุนไพรระดับหมู่บ้านในการพัฒนาตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

Main Article Content

สุเมต บุญสุด

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามเฝ้าระวังความปลอดภัยในชาวบ้านที่ใช้สมุนไพรพื้นบ้านจากกระบวนการส่งเสริมการใช้สมุนไพรพื้นบ้านในการพัฒนาหมู่บ้านตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของจังหวัดสุรินทร์ โดยการใช้แบบสอบถามเพื่อการสังเกตในการเฝ้าระวังในกลุ่มตัวอย่างจำนวน 10 ครัวเรือน 50 คน (ชาย 20 คน หญิง 30 คน อายุเฉลี่ย 38 ปี) จากข้อมูลการเฝ้าระวังตลอดระยะเวลาหนึ่งปี (1 พฤศจิกายน 2559-31 ตุลาคม 2560) พบว่า มีการใช้สมุนไพรพื้นบ้านเรียงลำดับตามความบ่อยในการใช้ต่อจำนวนครั้งในการใช้ 5 ลำดับแรกคือ การดื่มน้ำต้มใบเตยบรรเทาอาการเวียนศีรษะ การต้มรากหมาน้อยเพื่อบรรเทาอาการปวดระดู กระเทียมตำผสมข่าเพื่อรักษาเกลื้อน การใช้ใบหนาดต้มบรรเทาอาการคัน ใบรางจืดต้มดื่มบรรเทาอาการวิงเวียนศีรษะ อุบัติการณ์ด้านความปลอดภัยในการใช้สมุนไพร (Safety Incident )ที่พบสูงสุดคือ การเกิดการแพ้ พุพองจากการใช้กระเทียมผสมข่าในการรักษาเกลื้อน จากกระบวนการในการสอบสวนอุบัติการณ์ในการใช้สมุนไพรพบว่าเกิดจากส่วนผสมของกระเทียมและข่าที่มีความเข้มข้นของข่ามากเกินไป และผู้ใช้ยาสมุนไพรทราบเบื้องต้นว่าอาจจะเกิดผลดังกล่าวและสังเกตเห็นตั้งแต่แรกและหยุดการรักษาทันท่วงที อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อ.ส.ม.) ประจำกลุ่มก็สังเกตพบเช่นกันแต่ไม่กล้าขัดแย้งกับผู้ใช้สมุนไพร ในการส่งเสริมการใช้สมุนไพรในระดับหมู่บ้าน ส่วนมากเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่ชาวบ้านมีการสืบทอดต่อกันมารุ่นต่อรุ่น การเฝ้าระวังความปลอดภัยในการใช้ต้องมีการเฝ้าระวังอย่างทันท่วงทีและมีการให้ความรู้แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อ.ส.ม.)ในระดับหมู่บ้านเพื่อการเฝ้าระวังด้านความปลอดภัยดังกล่าวเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ