ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และความสามารถในการต้านเชื้อแบคทีเรีย ของสารสกัดเดี่ยวและสารสกัดผสมจากใบพญายอ ใบกระดูกไก่ดำ และใบหนาดใหญ่
Main Article Content
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินปริมาณฟีนอลิกและฟลาโวนอยด์ รวมถึงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วย วิธี DPPH radical scavenging และความสามารถในการต้านเชื้อ Staphylococcus aureus และ Escherichia coli จากสารสกัดสมุนไพรเดี่ยว ผสมสองชนิดและผสมรวม 3 ชนิด จากใบพญายอ (Clinacanthus nutans), ใบกระดูกไก่ดำ (Justica gendarussa), และใบหนาดใหญ่ (Blumea balsamifera) ทดสอบปริมาณฟีนอลิกรวมทดสอบด้วยวิธี Folin-Ciocalteu โดยเทียบสารมาตรฐาน Gallic acid ทดสอบปริมาณฟลาโวนอยด์ทดสอบโดยวิธี Aluminium chloride colorimetric โดยเทียบกับสารมาตรฐาน Quercetin ประเมินฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระทดสอบโดยวิธี DPPH เทียบกับสารมาตรฐาน Trolox และทดสอบความสามารถในการต้านเชื้อแบคทีเรียโดยวิธี broth dilution รายงานผลเป็นค่าความสามารถในการยับยั้งการเจริญของเชื้อ (Minimum Inhibitory Concentration; MIC) และฆ่าทำลายเชื้อ (Minimum Bactericidal Concentration; MBC) ผลการวิจัยพบว่าใบหนาดใหญ่มีปริมาณสารฟีนอลิกรวม ฟลาโวนอยด์รวม และความสามารถในการต้านอนุมูลอิสระสูงสุดที่ 194.82 มิลลิกรัม(กรดแกลลิก)/กรัมของสารสกัด, 191.23 มิลลิกรัม(เควอซิทิน)/กรัมของสารสกัด, ร้อยละการยับยั้งอนุมูลอิสระที่ 56.99 ตามลำดับ และการผสมสารสกัดคู่ใบพญายอและใบหนาดใหญ่ และคู่ใบกระดูกไก่ดำและใบหนาดใหญ่ ให้ผลลัพธ์ในการต้านอนุมูลอิสระไม่แตกต่างทางสถิติ การทดสอบความสามารถในการต้านเชื้อ S. aureus และ E. coli พบว่าใบหนาดใหญ่และคู่ผสมใบพญายอและใบกระดูกไก่ดำมีค่า MIC ที่ 0.625 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร ผลการศึกษาชี้ให้เห็นศักยภาพของสมุนไพรเป็นแหล่งสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญ และสนับสนุนการใช้สมุนไพรผสมในตำรับตามการแพทย์แผนไทยและพื้นบ้านเพื่อการพัฒนาต่อไป