การพยาบาลผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงที่ได้รับการผ่าตัดกล่องเสียงออกทั้งหมด : กรณีศึกษา 2 ราย

ผู้แต่ง

  • ลัดดาวัลย์ หมื่นแก้ว

บทคัดย่อ

ความเป็นมา : โรคมะเร็งกล่องเสียง ที่ได้รับการผ่าตัดกล่องเสียงออกทั้งหมด มีความพิการด้านการสื่อสาร  สูญเสียภาพลักษณ์  และอาจทำให้เสียชีวิตจากทางเดินหายใจอุดตันได้   การพยาบาลจึงต้องยุ่งยากซับซ้อน และครอบคลุมองค์รวม  เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น

วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาการดำเนินของโรค เปรียบเทียบข้อวินิจฉัยการพยาบาล ปฏิบัติการพยาบาล และผลลัพธ์การพยาบาล 

วิธีการศึกษา : เป็นกรณีศึกษา 2 ราย เลือกแบบเฉพาะเจาะจงในผู้ป่วยมะเร็งกล่องเสียงที่ได้รับการผ่าตัดกล่องเสียงออกทั้งหมด  เก็บข้อมูลจากเวชระเบียน  สัมภาษณ์ผู้ป่วยและญาติ  ร่วมกับการสังเกต กำหนดข้อวินิจฉัยการพยาบาล วางแผนปฏิบัติการพยาบาล และประเมินผลลัพธ์ทางการพยาบาล ใช้ทฤษฏีแบบแผนสุขภาพของ Gordon เป็นกรอบแนวคิด วิเคราะห์ข้อมูลเชิงเนื้อหา

ผลการศึกษา : กรณีศึกษาที่ 1 และ 2 ราย เป็นมะเร็งที่กล่องเสียงระยะที่ 3 และ 4 ตามลำดับ มีอาการเสียงแหบและหายใจลำบาก กรณีศึกษาที่ 1 ผ่าตัดกล่องเสียงออกทั้งหมด  กรณีศึกษาที่ 2 ผ่าตัดกล่องเสียง ต่อมไทรอยด์ และต่อมน้ำเหลืองข้างขวาออกทั้งหมด  กรณีศึกษาทั้ง 2 ราย พบข้อวินิจฉัยการพยาบาลที่เหมือนกันได้แก่  1) ประสิทธิภาพการหายใจลดลง 2) เสี่ยงต่อภาวะอุดกั้นทางเดินหายใจ  3)มีภาวะติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด  4)ไม่สุขสบายปวดแผลผ่าตัด 5) การสื่อสารบกพร่อง  6) มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการผ่าตัดและภาพลักษณ์  7) เสี่ยงต่อภาวะทุภพโภชนาการ 8) พร่องความรู้ในการใช้ยาเมื่อกลับบ้านและการมาตรวจตามนัด  ที่ต่างกันคือ กรณีศึกษาที่ 1 พบภาวะโลหิตจาง กรณีศึกษาที่ 2 พบว่า เสี่ยงต่อภาวะTetany  มีภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน   และไม่สุขสบายเนื่องจากมีปวดตึงลำคอข้างขวาและไหล่ตก   ปฏิบัติการพยาบาลที่สำคัญได้แก่ป้องกันการเกิดทางเดินหายใจอุดตัน  ติดเชื้อ และภาวะแทรกซ้อน ต่างๆ    ลดความเจ็บปวด   สามารถสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ  มีการเสริมพลังอำนาจให้ผู้ป่วยและญาติในการดูแลท่อหลอดลมคอ และสร้างความมั่นใจในการเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์ ผลลัพธ์การพยาบาล กรณีศึกษาทั้ง 2 รายไม่มีภาวะทางเดินหายใจอุดตัน   ปรับตัวเข้ากับภาพลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงและสามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้

ข้อเสนอแนะ : ควรส่งเสริมให้พยาบาลประเมินภาวะสุขภาพและกำหนดข้อวินิจฉัยทางการพยาบาลเพื่อวางแผน ปฏิบัติการพยาบาลได้อย่างครอบคลุม  และพัฒนาเป็นมาตรฐานปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยที่ผ่าตัดมะเร็งกล่องเสียง  เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดูแลสำหรับบุคลากรพยาบาล

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-07-13