ผลของเชียงยืนโมเดล ในการป้องกันภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดซ้ำในผู้ป่วย โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ใน โรงพยาบาลเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม

ผู้แต่ง

  • อรชพร กุณาศล โรงพยาบาลเชียงยืน

คำสำคัญ:

โรคเบาหวานชนิดที่ 2, ภาวะน้ำตาลต่ำในเลือด, เชียงยืนโมเดล

บทคัดย่อ

          วัตถุประสงค์ : ภาวะน้ำตาลต่ำในเลือด พบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน เป็นความเสี่ยงทางคลินิกที่มีความสำคัญ จากการทบทวนแนวทางการรักษาและการให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วยตามมาตรฐานของโรงพยาบาลเชียงยืน พบว่ายังมีรูปแบบที่ไม่ชัดเจน ส่งผลให้ผู้ป่วยยังคงมีอาการน้ำตาลต่ำในเลือด ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาผลของเชียงยืนโมเดล ในการป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดซ้ำ

          รูปแบบและวิธีวิจัย : การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม(Randomized controlled trial) ประชากรคือ ผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีภาวะน้ำตาลต่ำในเลือด ที่ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลเชียงยืน และมีภูมิลำเนาในอำเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม (กลุ่มทดลอง 12 คน และกลุ่มควบคุม 12 คน) ทั้งสองกลุ่มจะได้รับแบบสำรวจข้อมูลทั่วไป สำรวจภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดในหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ในกลุ่มทดลองจะได้รับสมุดคู่มือ นัดติดตามอาการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และได้รับคำแนะนำก่อนกลับบ้าน ส่วนกลุ่มควบคุมจะได้รับคำแนะนำก่อนกลับบ้านตามมาตรฐานของโรงพยาบาลเชียงยืน จากนั้นทั้งสองกลุ่มจะได้รับการนัดติดตามอาการที่โรงพยาบาลเชียงยืนในหนึ่งเดือนถัดไป และทำแบบสำรวจภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดในหนึ่งเดือนที่ผ่านมาและ คิดเป็นคะแนนอีกครั้งหลังการทดลอง

          ผลการศึกษา : ข้อมูลทั่วไปของประชากรกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ  คะแนนเฉลี่ยอันดับ (Mean rank)  ของคะแนนภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดก่อนการทำการทดลองของกลุ่มทดลอง คือ 14.08 และกลุ่มควบคุม คือ 10.02  ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p-value = 0.291) คะแนนเฉลี่ยอันดับ (Mean rank) หลังการทดลองของกลุ่มทดลอง คือ 6.88 และกลุ่มควบคุม คือ 18.13 มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p-value <0.001)

          สรุปผลการศึกษา : เชียงยืนโมเดลสามารถป้องกันการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดซ้ำได้ จากการติดตามการรักษาใน 1 เดือนถัดไป ประชากรกลุ่มทดลองที่ได้รับการดูแลตามวิธีการของเชียงยืนโมเดล มีคะแนนของอาการของภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดลดลง อย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับประชากรกลุ่มควบคุม

References

1.สมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย, สมาคมต่อมไร้ท่อแห่งประเทศไทย, กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ. (2560). แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2560.พิมพ์ครั้งที่ 3.ปทุมธานี; ร่มเย็นมีเดีย
2.นิภาพร มีชิน. ปัทมา สุริต.(2561). ผลของแนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยโรคเบาหวานที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำต่อการเกิดภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดซ้ำ ระยะเวลาที่นอนรักษาในโรงพยาบาล และการกลับเข้ารับการรักษาซ้ำ.วารสารการพยาบาลและการดูแลสุขภาพ,36(3),หน้า 157-165
3.บุญจันทร์ วงศ์สุนพรัตน์, รัตนาภรณ์ จีระวัฒนะ, ณัฐพิมณฑ์ ภิรมย์เมือง, น้ำเพชร สายบัวทอง. (2555). แนวปฏิบัติการพยาบาลทางคลินิก : การพยาบาลผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะน้ำตาลต่ำในเลือด.
4.ศิริมา มณีโรจน์, ธนัชพร ลาภจุติ, กัญจนา ปุกคำ. (2560). การพัฒนารูปแบบการจัดการภาวะน้ำตาลต่ำในเลือดสำหรับผู้ป่วยเบาหวานโรงพยาบาลมหาราชนครศรีธรรมราช.วารสารพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข,27(2),หน้า 126-139
5.ไพบูลย์ ค้ำพันธุ์. (2549). ผลของการให้คำปรึกษาและการใช้แนวทางดูแลรักษาผู้ป่วยเบาหวานที่รับไว้ในโรงพยาบาลด้วยภาวะน้ำตาลต่ำ.จดหมายเหตุทางแพทย์ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์,89(5),หน้า 619-625

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2021-09-01