อุบัติการณ์และปัจจัยเสี่ยงการเกิดภาวะติดเชื้อเยื่อบุช่องท้องครั้งแรก ของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง โรงพยาบาลโพธาราม

ผู้แต่ง

  • ธวัช เตียวิไล พ.บ. กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลโพธาราม จังหวัดราชบุรี
  • รสสุคนธ์ ตันติวิชิตเวช พย.ม. กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลโพธาราม จังหวัดราชบุรี

คำสำคัญ:

การเกิดภาวะติดเชื้อเยื่อบุช่องท้องครั้งแรก, ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง, ปัจจัยเสี่ยง

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาอุบัติการณ์และปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อเยื่อบุช่องท้อง (peritonitis) ครั้งแรกในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง โรงพยาบาลโพธาราม

          วิธีการศึกษา: การศึกษาเชิงวิเคราะห์แบบย้อนหลัง โดยเก็บข้อมูลจากผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ได้รับการรักษาด้วยวิธีล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องที่หน่วยงานล้างไตทางช่องท้อง (CAPD Unit) โรงพยาบาลโพธารามตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2561 เป็นระยะเวลา 8 ปี เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นเวชระเบียน แบบบันทึกผลการตรวจติดตามผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง โรงพยาบาลโพธารามนำเสนอข้อมูลเป็นจำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน วิเคราะห์ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเกิดภาวะติดเชื้อเยื่อบุช่องท้องครั้งแรกด้วยการวิเคราะห์ t-test independent, chi-square test และเปรียบเทียบสัดส่วนความเสี่ยง (odds ratio) ระหว่างกลุ่มที่เกิดการติดเชื้อเยื่อบุช่องท้องครั้งแรกกับกลุ่มที่ไม่เกิดการติดเชื้อเยื่อบุช่องท้อง ด้วยการวิเคราะห์ binary logistic regression และการประมาณค่าขอบเขตความเชื่อมั่นร้อยละ 95

ผลการศึกษา: จำนวนผู้ป่วย 139 ราย พบอุบัติการณ์การติดเชื้อเยื่อบุช่องท้องครั้งแรกร้อยละ 41.0 ผลการเพาะเชื้อจากน้ำในช่องท้องไม่พบการเจริญของเชื้อ (negative peritoneal fluid culture) ร้อยละ 35.1 และเชื้อจุลชีพที่พบบ่อยคือ Staphylococcus aureus ร้อยละ 14.0 เมื่อวิเคราะห์ตัวแปรเชิงเดี่ยว พบว่า ระดับการศึกษา การล้างมือบางครั้ง การสวมผ้าปิดปากและจมูกบางครั้ง สถานที่เปลี่ยนน้ำยาล้างไตที่ไม่ได้มาตรฐาน การเป็นโรคเบาหวานและระดับความเข้มข้นเลือด มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะติดเชื้อเยื่อบุช่องท้องครั้งแรกของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) สำหรับกลุ่มที่มีภาวะช่องท้องอักเสบมีระดับความเข้มข้นของเลือด (hematocrit: hct) ต่ำกว่ากลุ่มที่ไม่พบภาวะช่องท้องอักเสบอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (29.47±4.37 และ 31.04±3.87; p<.05) เมื่อวิเคราะห์การถดถอยพหุโลจิสติกส์ โดยควบคุมตัวแปรเชิงเดี่ยว พบว่า สถานที่เปลี่ยนน้ำยาล้างไตที่ไม่ได้มาตรฐานและการเป็นโรคเบาหวานมีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะติดเชื้อเยื่อบุช่องท้องครั้งแรกของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง (0R=4.04, 95% CI=1.45-11.31, p<.05 และ OR=2.60, 95% CI=1.19-5.69, p<.05 ตามลำดับ)สำหรับปัจจัยเสี่ยงด้านเพศ อายุ รายได้ของครอบครัวการสูบบุหรี่ ดัชนีมวลกาย ผู้เปลี่ยนน้ำยาล้างไต ระยะเวลาหลังการล้างไตในช่องท้องอย่างต่อเนื่อง ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหาร (fasting blood sugar: FBS) อัลบูมินและโปแตสเซียมในเลือด ไม่มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะติดเชื้อเยื่อบุช่องท้องครั้งแรกของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง

สรุป: เชื้อจุลชีพที่เป็นสาเหตุหลักในการเกิดภาวะติดเชื้อเยื่อบุช่องท้องครั้งแรกของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง คือ Staphylococcus aureus เป็นเชื้อที่ปนเปื้อนขณะเปลี่ยนถ่ายน้ำยา สอดคล้องกับผลการวิจัยที่พบว่า การล้างมือหรือการสวมผ้าปิดปากและจมูกบางครั้ง รวมถึงสถานที่เปลี่ยนน้ำยาล้างไตที่ไม่ได้มาตรฐาน มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อเยื่อบุช่องท้องครั้งแรก การเป็นโรคเบาหวานและระดับความเข้มข้นเลือดเป็นปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะติดเชื้อเยื่อบุช่องท้องครั้งแรก จึงควรมีการเฝ้าระวังผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นพิเศษ โดยควบคุมรักษาเบาหวานและระดับความเข้มข้นเลือดให้ได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน

References

1. เถลิงศักดิ์ กาญจนบุศย์, บรรณาธิการ. Text of Practical Peritoneal Dialysis. กรุงเทพฯ:ศิริวัฒน์อินเตอร์พริ้นท์; 2556.
2. สมชาย เอี่ยมอ่อง, บรรณาธิการ. Text of Peritoneal Dialysis. กรุงเทพฯ:เท็กซ์ แอนด์เจอร์นอล พับลิเคชั่น; 2551.
3. Thaiyuenwong J, Mahatanan N, Jiravaranun S, et al. Nationwide peritoneal dialysis nurse training in Thailand: 3-year experience.J Med Assoc Thai2011;94 Suppl 4:S162-6.
4. Holley JL, et al. Initiating a PD program: Personnel administrative requirements. Patient Recruitment and Training. Seminars in Dialysis. 1990;3:123–6.
5. Nakamoto H, Kawaguchi Y, Suzuki H. Is technique survival on peritoneal dialysis better in Japan?.Perit Dial Int. 2006;26:136-43.
6. Kanjanabuch T, Chancharoenthana W, Katavetin P,et al. The incidence of peritoneal dialysis-related infection in Thailand: a nationwide survey.J Med Assoc Thai. 2011;94:S7-12.
7. Szefo G. Reaching Standards of Care in Peritoneal Dialysis. ISPD Asian Pasific Newsletters. International Society for Peritoneal Dialysis (ISPD). 2010;8:2-3.
8. เถลิงศักดิ์ กาญจนบุศย์, บรรณาธิการ. แนวปฏิบัติการล้างไตทางช่องท้อง พ.ศ.2560, Clinical Practice Guideline (CPG) for Peritoneal Dialysis 2017. กรุงเทพฯ: เฮลธ์เวิริ์คพลัส; 2560.
9. เศรษฐพล ปัญญาทอง. ผลการรักษาด้วยวิธีล้างไตทางช่องท้อง ระยะเวลาดำเนินงาน 4 ปี ภายใต้ ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในโรงพยาบาลนครพิงค์. อุตรดิตถ์เวชสาร 2555;27(2):35-43.
10. อรรถพร พัชรสุวกุล. การติดเชื้อที่เยื่อบุผนังช่องท้องในผู้ป่วยที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่องในโรงพยาบาลพระจอมเกล้าจังหวัดเพชรบุรี.วารสารแพทย์เขต4-5 2557;33(1):9-14.
11. Dong J,Chen Y.Impact of the bag exchange procedure on risk of peritonitis. PeritDialInt.2010;30(4):440-7.
12. สราวุฒิ บุญสุข. ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ (Peritonitis) ในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องแบบต่อเนื่องโรงพยาบาลเบญจลักษ์เฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษา จังหวัดศรีสะเกษ. วารสารสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 2558;13:15-29
13. Lobo JV, Villar KR, de Andrade Júnior MP, et al. Predictor factors of peritoneal dialysis-related peritonitis. J Bras Nefrol. 2010;32(2):156-64.
14. สมถวิล เกียรติวัชรชัย. ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดติดเชื้อในเยื่อบุช่องท้องครั้งแรกในผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้องอย่างต่อเนื่อง. วารสารการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ 2555;19(3):29-35.
15. Han SH, Lee SC, Ahn SV, et al. Reduced residual renal function is a risk of peritonitis in continuous ambulatory peritoneal dialysis patients. Nephrol Dial Transplant. 2007; 22(9): 2653-8
16. ชยุตพงศ์ ใจใส, พงศ์อาชว์ พลอยชิตกุล,สุรพล โนชัยวงศ์, และคณะ. ความเสี่ยงของภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำต่อการเกิดภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบจากการติดเชื้อครั้งแรกในผู้ป่วยที่ได้รับการล้างไตทางช่องท้อง. สงขลานครินทร์เวชสาร 2559;34(4):187-99
17. สำราณ พลเตชา, สุนันท์ นกทอง, วัลลภา ช่างเจรจา. ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อในเยื่อบุช่องท้องในผู้ป่วยล้างไตในช่องท้องอย่างต่อเนื่องโรงพยาบาลบึงกาฬ. วารสารการพยาบาล สุขภาพ และการศึกษา 2561;1(3):3-10.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-03-03