ผลลัพธ์ของการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดในแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน

ผู้แต่ง

  • จิราพร ศรีพิบูลย์บัติ พย.ม., วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี สวรรค์ประชารักษ์ นครสวรรค์

คำสำคัญ:

ผลลัพธ์ของการดูแล, ผู้สูงอายุ, ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

          ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis) เป็นกลุ่มอาการที่เป็นผลจากการที่เนื้อเยื่อหรือเซลล์ถูกทำลายและได้รับบาดเจ็บอย่างต่อเนื่อง เป็นภาวะวิกฤตที่มีความสำคัญเพราะมีอัตราตายสูง หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและรวดเร็ว และมักเกิดกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุจะมีร่างกายอ่อนแอ มีความเสี่ยงเนื่องจากข้อบกพร่องในทั้งระบบภูมิคุ้มกันของเซลล์และร่างกายเพิ่มขึ้น มีความเสี่ยงในการเสียชีวิตสูง ดังนั้นถ้ามีแนวปฏิบัติการพยาบาลผู้สูงอายุที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด จะทำให้ผู้สูงอายุได้รับการวินิจฉัย และการดูแลรักษาที่รวดเร็ว เหมาะสม และมีประสิทธิภาพอย่างเป็นระบบ

            วัตถุประสงค์: เปรียบเทียบผลลัพธ์ของการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดในแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน ในด้านการดักจับอาการ การส่งตรวจเลือดเพาะเชื้อก่อนได้รับยาปฏิชีวนะ การได้รับยาปฏิชีวนะภายใน 1 ชั่วโมงหลังแพทย์วินิจฉัยการได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำตามแผนการรักษา และการใส่สายสวนปัสสาวะ ระหว่าง พ.ศ. 2561 กับ พ.ศ. 2562

             วิธีการศึกษา: เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง ในผู้สูงอายุที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดในแผนกอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลเดิมบางนางบวชจังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 76 ราย เครื่องมือในการวิจัย คือ แนวปฏิบัติการพยาบาลและแบบบันทึกผลลัพธ์ของการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด มีดัชนีความเที่ยงตรงของเนื้อหา (content validity index: CVI) เท่ากับ 0.89 ใช้สถิติการทดสอบค่าที (independent   t test) เปรียบเทียบความแตกต่างของผลลัพธ์

               ผลการศึกษา: กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุ 71-80 ปี มีโรคร่วม มีแผล และเคยมาตรวจด้วย infection และการเปรียบเทียบผลลัพธ์การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดระหว่าง พ.ศ. 2561 กับ พ.ศ. 2562 พบว่า การดักจับอาการ การส่งตรวจเลือดเพาะเชื้อก่อนได้รับยาปฏิชีวนะ การได้รับยาปฏิชีวนะภายใน 1 ชั่วโมงหลังแพทย์วินิจฉัย การได้รับสารน้ำทางหลอดเลือดดำตามแผนการรักษา และการใส่สายสวนปัสสาวะ ในพ.ศ. 2562 มีจำนวนการปฏิบัติเพิ่มขึ้น เมื่อเปรียบเทียบความแตกต่างด้วยสถิติ independent t-test พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t= 4.998, 8.013, 10.245, 7.488, 12.485 p<.001)

               สรุป: ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้สูงอายุที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดเสียชีวิต ได้แก่ การได้รับการวินิจฉัยแรกรับล่าช้าและการเริ่มให้ยาปฏิชีวนะล่าช้า การใช้แนวปฏิบัติการพยาบาลผู้สูงอายุที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด สามารถดักจับอาการติดเชื้อในกระแสเลือด ซึ่งจะสามารถป้องกันหรือลดความรุนแรงของอวัยวะล้มเหลวและสามารถลดการอัตราตายได้

 

References

เอกสารอ้างอิง
1. กรรณิกา อำพนธ์, ชัชญาภา บุญโยประการ, พัชรินทร์ ศิลป์กิจเจริญ. ผลลัพธ์ของการพัฒนาการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดโรงพยาบาลพระปกเกล้า. วารสารศูนย์การศึกษาแพทยศาสตร์คลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า. 2560; 34(3): 222-36.

2. สมาคมเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย. การดูแลรักษาผู้ป่วย Severe Sepsis และ Septic Shock (ฉบับร่าง) แนวทางเวชปฏิบัติ. กรุงเทพฯ: สมาคมเวชบำบัดวิกฤต; 2558.

3. งานเวชระเบียนและสถิติ โรงพยาบาลเดิมบางนางบวช. สถิติผู้ป่วยนอก [ฐานข้อมูลปิด]. สุพรรณบุรี: ฐานข้อมูลผู้ป่วยนอก; 2561.

4. พรทิพย์ แสงสง่า, นงนุช เคี่ยมการ. ผลลัพธ์การใช้แนวปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสโลหิตอย่างรุนแรงทางคลินิกตามเกณฑ์ “Sepsis bundles” ในงานห้องผู้ป่วยหนัก โรงพยาบาลสงขลา. วารสารวิชาการแพทย์เขต 11. 2558; 29(3): 403–10.

5. ภาพิมล โกมล, รัชนี นามจันทรา, วารินทร์ บินโฮเซ็น. คุณภาพการจัดการดูแลผู้มีกลุ่มอาการติดเชื้อในกระแสเลือดที่หน่วยงานอุบัติเหตุและฉุกเฉิน โรงพยาบาลสิงห์บุรี. สมาคมสถาบันอุดมศึกษาเอกชนแห่งประเทศไทย. 2560; 6(2): 32-43.

6. วิทยา บุตรสาระ, ยุพนา ลิงลม, สำเนียง คำมุข. การพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด. วารสารมหาวิทยาลัยนครพนม ฉบับการประชุมวิชาการครบรอบ 25. 2563; 17-25.

เผยแพร่แล้ว

2020-12-29