ความรู้และทัศนคติที่มีผลต่อการอบสมุนไพรในวัดเขตอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับความรู้ และทัศนคติที่มีผลต่อการอบสมุนไพรในวัด 2) เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่าง ความรู้ และทัศนคติที่มีผลต่อการอบสมุนไพรในวัด ของประชาชนที่เข้ามาอบสมุนไพรในวัด เขตอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ ประชาชนที่เข้ามารับบริการอบสมุนไพรในวัด เขตอำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี จำนวน 380 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง กำหนดกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ที่เข้ารับบริการอบสมุนไพรในวัด 5 วัด ที่มีการอบสมุนไพร ได้แก่ วัดหนองปลาปาก วัดป่าขามใหญ่ วัดท่าบ่อ วัดหัวเรือ และวัดมหาวนาราม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบสอบถาม มีค่าความเชื่อมั่นรวมทั้งฉบับเท่ากับ 0.850 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (Pearson product moment correlation coefficient) โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป
ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศชายมีจำนวน 196 คน คิดเป็นร้อยละ 51.6 มีอายุระหว่าง 18-25 ปี จำนวน 109 คน คิดเป็นร้อยละ 28.7 ระดับการศึกษาปริญญาตรี จำนวน 146 คน คิดเป็นร้อยละ 38.4 และส่วนใหญ่เป็นนักเรียน/นักศึกษา จำนวน 110 คน คิดเป็นร้อยละ 28.9 ผู้รับบริการส่วนใหญ่มีความรู้เกี่ยวกับการอบสมุนไพร อยู่ในระดับมาก จำนวน 258 คน คิดเป็นร้อยละ 94.2 และมีความรู้อยู่ในระดับปานกลาง จำนวน 22 คน คิดเป็นร้อยละ 5.8 ด้านทัศนคติต่อการอบสมุนไพรในวัด โดยรวม อยู่ในระดับ มาก (X̅ = 4.054 , S = 0.898) ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ และทัศนคติที่มีต่อการอบสมุนไพรในวัด มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 (p=0.210**)