ฤทธิ์ในการกำจัดลูกน้ำยุงลายบ้านและยุงรำคาญของสารสกัดจากเปลือกสะแกนา
Main Article Content
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินฤทธิ์ในการกำจัดลูกน้ำระยะที่ 3 ของยุงลายบ้านและยุงรำคาญของสารสกัดจากเปลือกสดและแห้งของสะแกนาและวิเคราะห์หาองค์ประกอบทางเคมี สารประกอบออกฤทธิ์ทางชีวภาพจะถูกวิเคราะห์โดยเทคนิคแก๊สโครมาโทกราฟฟี-แมสสเปกโตรเมตทรี สารตัวอย่างจะถูกละลายใน 95% เอทานอล ให้ความเข้มข้นอยู่ในช่วง 5-80 กรัม/ลิตร อัตราการตายจะถูกบันทึกผลที่ 48 ชั่วโมงหลังการทดลอง ผลการศึกษาจะถูกวิเคราะห์ความสัมพันธ์แบบโปรบิทเพื่อวิเคราะห์ค่าความเข้มข้นของสารเคมีที่ทำให้สัตว์ทดลองตาย จากการศึกษาพบว่าลูกน้ำของยุงลายบ้านจะไวต่อสารสกัดได้มากกว่ายุงรำคาญ หลังจากการทดสอบ 48 ชั่วโมง สารสกัดจากเปลือกแห้งแสดงให้เห็นฤทธิ์ในการฆ่าลูกน้ำได้ดีกว่าเปลือกสดต่อยุงลายและยุงรำคาญโดยให้ค่า LC50 (Lethal concentration, 50%) เท่ากับ 3.67 และ 5.48 กรัม/ลิตร และค่า LC90 (Lethal concentration, 90%) 11.01 และ 13.22 กรัม/ลิตร ตามลำดับ โดยสารสกัดจากเปลือกสดไม่สามารถกำจัดลูกน้ำยุงลายบ้านและยุงรำคาญได้ในความเข้มข้นที่เท่ากัน การวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีด้วยเทคนิคแก๊สโครมาโทกราฟฟี-แมสสเปกโตรเมตทรี พบองค์ประกอบเบื้องต้นทั้งหมด 40 ชนิด โดยจากการวิเคราะห์ผลพบว่ามีสารประกอบหลัก คือ Epicurzerenone (12.58%), Copaene (11.88%), Caryophyllene (8.30%), β-Cadinene (6.38%) และ 1,1,4,8-Tetramethyl-4,7,10-cycloundecatriene (6.11%) การศึกษาครั้งนี้แนะนำว่าสารสกัดจากเปลือกสะแกนานี้อาจจะนำมาพัฒนาเป็นสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในการควบคุมประชากรยุงได้ในอนาคต