ภูมิปัญญาพื้นบ้านในการบริโภคอาหารของมารดาหลังคลอด : กรณีศึกษาชุมชนชาวภูไทตำบลโนนหอม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร

Main Article Content

พนิดา กมุทชาติ

บทคัดย่อ

การศึกษาภูมิปัญญาพื้นบ้านในการบริโภคอาหารของมารดาหลังคลอด : กรณีศึกษาชุมชนชาวภูไท ตำบล  โนนหอม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภูมิปัญญาพื้นบ้านในการบริโภคอาหารของมารดาหลังคลอด การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research) เครื่องมือที่ใช้ ได้แก่ แบบสัมภาษณ์มีโครงสร้าง (Structured interview) การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างเป็นการคัดเลือกแบบเจาะจง (Purposive sampling) ได้แก่ กลุ่มมารดาหลังคลอดจำนวน 39 คน เป็นมารดาที่คลอดปกติหรือผ่าคลอด ระหว่างเดือนมกราคม-ธันวาคม 2561 การวิเคราะห์ข้อมูลผ่านตีความตามหลักตรรกะควบคู่กับการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มมารดาหลังคลอดมีการรับประทานอาหาร เช่น เนื้อหมู ไก่ดำ กบ ปูนา ปลาหมอ หัวปลี บวบ ฟักทอง ขิง ข่า กล้วยน้ำว้า มะละกอสุก ข้าวจ้าว ข้าวกล้อง มีวิธีการปรุง ปิ้ง ย่าง จี่ ผัด นึ่ง เชื่อว่าช่วยให้ร่างกายแข็งแรง บำรุงน้ำนม เลือดลมไหลเวียนดี ไม่ผิดสำแดง การงดรับประทานอาหารหลังคลอด เช่น เนื้อสัตว์ป่า เนื้อวัว เนื้อควาย ไข่ทุกชนิด ชะอม ของหมักดอง ทุเรียน ขนุน สับปะรด เป็นต้น เชื่อว่า ทำให้ผิดสำแดง เวียนศีรษะ หายใจไม่สะดวก อ่อนเพลีย น้ำคาวปลาไหลไม่สะดวก และการปฏิบัติตัวหลังคลอด เช่น การอยู่ไฟ อาบน้ำ ดื่มน้ำต้มสมุนไพร การงดมีเพศสัมพันธ์ อิทธิพลการรับประทานอาหารและการปฏิบัติตัวของมารดาหลังคลอดด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านส่วนใหญ่คนในครอบครัวจะเป็นผู้ตัดสินใจและได้การสนับสนุนจากแม่ของตนเอง ผู้เฒ่าผู้แก่ ญาติ พี่น้อง หรือแม่ของสามี เป็นการปฏิบัติจากการจดจำและถ่ายทอดต่อกันมาในชุมชน ซึ่งยังมีระบบอาวุโสที่ผู้น้อยต้องเคารพเชื่อฟังผู้ใหญ่ทั้งที่มารดาบางรายมีความรู้เกี่ยวกับการดูแลตนเองตามยุคสมัยแต่ก็ต้องจำยอมปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ดูแล

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ