การพัฒนาตำรับและประเมินความพึงพอใจต่อผลิตภัณฑ์พอกหน้าชนิดล้างออกผสมผงว่านนางคำและผงถ่านไม้ไผ่
Main Article Content
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตำรับและศึกษาความพึงพอใจต่อผลิตภัณฑ์พอกบำรุงผิวหน้าชนิดล้างออกผสมสารสกัดจากธรรมชาติ โดยเลือกกลุ่มตัวอย่าง นักศึกษาแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ด้วยวิธีเจาะจง (Purposive sampling) แบ่งออกเป็นสภาพผิวแห้ง 10 คน ผิวผสม 10 คน และผิวมัน 10 คน รวมทั้งสิ้น 30 คน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐานเกี่ยวกับ ร้อยละ (%) ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และ One-way ANOVA การศึกษาในครั้งนี้ พบว่าลักษณะทางกายภาพหลังการเตรียมตำรับครีมพื้นตั้งไว้ที่อุณหภูมิห้องมีลักษณะเนื้อครีมมีลักษณะเนียนนุ่ม สีขาว ความหนืดปานกลาง ไม่เหลว ไม่เกิดการแยกชั้น มีการไหลของเนื้อครีมที่พอเหมาะ มีความมันและความลื่นต่อผิวปานกลาง เมื่อล้างผลิตภัณฑ์พบว่าสร้างความชุ่มชื่นให้แก่ผิว จากนั้นนำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสม ของผงถ่านไม้ไผ่และว่านนางคำ เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือประเมินความพึงพอใจ พบว่า อาสาสมัครมีความพึงพอใจต่อผลิตภัณฑ์ในภาพรวม โดยเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (4.3 ± 0.37) และค่าคะแนนความพึงพอใจในแต่ละสภาพผิวไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (p > 0.05) และพบว่ามีบางข้อสอบถามที่ควรปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์พอกหน้าชนิดล้างออกผสมสารสกัดจากธรรมชาติที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพและควรพัฒนาตำรับครีมพอกหน้าให้มีคุณสมบัติที่ดีเพิ่มมากขึ้น และศึกษาด้านอื่นๆ เพิ่มเติม ซึ่งการพัฒนาผลิตภัณฑ์นี้จะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สมุนไพรไทย