สารพฤกษเคมี และฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบในพิกัดยาตรีกฏุก
Main Article Content
บทคัดย่อ
พิกัดยาตรีกฏุกถูกใช้ในทางการแพทย์แผนไทยมาอย่างยาวนาน โดยใช้เป็นยาปรับธาตุหรือปรับระบบภูมิคุ้มกันที่เกี่ยวข้องกับโรคในฤดูฝน ซึ่งในพิกัดยาตรีกฏุกจะประกอบด้วยสมุนไพร 3 ชนิด คือ ขิง (Zingiber officinale Roscoe.) พริกไทย (Piper nigrum Linn.) และดีปลี (Piper retrofractum Vahl.) ในบทความปริทัศนนี้เปนการรวบรวมสารพฤกษเคมีและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบในพิกัดยาตรีกฏุกทั้ง 3 ชนิด โดยสารพฤกษเคมีที่สำคัญที่พบในขิง ได้แก่สารจินเจอรอล (gingerols) และสารโชกาออล(shogaols) สารพฤกษเคมีที่สำคัญที่พบในพริกไทยและดีปลี คือสารเปปเปอร์รีน (piperine) ส่วนฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของสมุนไพรที่เป็นส่วนประกอบในพิกัดตรีกฏุกพบว่า ขิงมีฤทธิ์ในการบรรเทาอาการท้องอืดท้องเฟ้อ แก้คลื่นไส้อาเจียน ระงับปวด แก้อักเสบ พริกไทยมีฤทธิ์ในการเพิ่มการไหลเวียนของเลือดไปยังมดลูก ฤทธิ์ระงับปวด ระงับอาการชัก ต้านการอักเสบ และมีฤทธิ์ในการยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ ส่วนฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของดีปลีพบว่า มีฤทธิ์ในการลดไขมันสะสมที่ตับ ฤทธิ์ลดการอักเสบ ระงับปวด ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร และยังมีผลในการต้านเชื้อแบคทีเรีย ยับยั้งเซลล์มะเร็งต่อมน้ำเหลือง เซลล์มะเร็งเม็ดเลือดขาว รวมทั้งมีฤทธิ์ในการต้านเชื้อไวรัสเดงกี่ที่เป็นสาเหตุของโรคไข้เลือดออกได้อีกด้วย ซึ่งข้อมูลที่ได้จากการทบทวนวรรณกรรมนี้สามารถนำไปใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการศึกษาสารพฤกษเคมีและฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาของพิกัดยาตรีกฏุกต่อไป