กลุ่มอาการปวดประจำเดือน (โลหิตปกติโทษ) ตามคัมภีร์มหาโชตรัต

Main Article Content

พนิดา กมุทชาติ

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลุ่มอาการปวดประจำเดือน (โลหิตปกติโทษ) ตามคัมภีร์มหาโชตรัตของนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร เป็นการศึกษาแบบสำรวจในรูปแบบของการศึกษาเชิงพรรณนา (Descriptive Research) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสกลนคร ชั้นปีที่ 1-3 จำนวน 204 คน เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2562 ใช้แบบสอบถามที่ผู้วิจัยได้นำมาพัฒนาปรับปรุงใหม่ให้มีข้อคำถามที่สอดคล้องเหมาะสมตามทฤษฎีทางการแพทย์แผนไทยในคัมภีร์มหาโชตรัต และศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้อง จากการศึกษาพบว่านักศึกษาที่มีโลหิตอันบังเกิดแต่หัวใจ จำนวน  21 คน (ร้อยละ 10.24) โลหิตอันบังเกิดแต่ขั้วดี จำนวน 13 คน (ร้อยละ 6.37) โลหิตอันบังเกิดแต่ผิวเนื้อ จำนวน 5 คน (ร้อยละ 2.45) โลหิตอันบังเกิดแต่เส้นเอ็น จำนวน 115 คน (ร้อยละ 56.37) โลหิตอันบังเกิดแต่กระดูก จำนวน 50 คน (ร้อยละ 24.50)  


จากการศึกษาข้อมูลแสดงการวัดระดับความปวดประจำเดือนในรอบ 3 เดือน ที่ผ่าน พบว่านักศึกษาที่มีอาการปวดประจำเดือน ระดับ 5-6 (ปวดปานกลาง) จำนวน 54 คน คิดเป็นร้อยละ 42.18 นักศึกษาที่มีประจำเดือนระดับ 3-4 (ปวดบ้าง) จำนวน 49 คน คิดเป็นร้อยละ 38.28 นักศึกษาที่มีประจำเดือนระดับ 7-8 (ปวดมาก) จำนวน 17 คน คิดเป็นร้อยละ 13.28 ตามลำดับ ผลการศึกษาครั้งนี้สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานทางด้านการแพทย์แผนไทยที่นำไปสู่งานวิจัยเชิงลึกต่อไปทำให้เกิดความเข้าใจในลักษณะกลุ่มอาการปวดประจำเดือน (โลหิตปกติโทษ) ตามคัมภีร์มหาโชตรัตมากขึ้น

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ