การศึกษาปริมาณสารฟีนอลิก ปริมาณสารฟลาโวนอยด์ และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระในสารสกัดสมุนไพร
Main Article Content
บทคัดย่อ
งานวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ และศึกษาองค์ประกอบทางพฤกษเคมีของสารสกัดสมุนไพร 8 ชนิด ได้แก่ สมอเทศ สมอไทย สมอพิเภก ขิง เทียนดำ มะตูม ยอ และผักชีลา ในวิจัยครั้งนี้ได้เตรียมสารสกัดสมุนไพร 8 ชนิด ด้วยวิธีการหมักกับเอทานอลร้อยละ 95 จากนั้นนำสารสกัดสมุนไพรมาทำการศึกษาฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระด้วยวิธี DPPH assay และศึกษาองค์ประกอบทางพฤษเคมี โดยทำการทดสอบปริมาณสารฟีนอลิกรวม ด้วยวิธี Folin-Ciocalteu assay และการทดสอบปริมาณสารฟลาโวนอยด์รวม โดยวิธี aluminium chloride colorimetric assay ผลการทดลองพบว่า สารสกัดสมอไทยให้ผลผลิตการสกัดสูงที่สุด ซึ่งมีค่าเท่ากับ 29.62 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนักแห้ง สารสกัดสมอพิเภกแสดงฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูงสุด โดยมีค่า IC50 เท่ากับ 2.31 ± 0.10 µg/mL อย่างไรก็ตามสารสกัดสมอพิเภกมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระต่ำกว่าสารมาตรฐานวิตามินซีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากการศึกษาองค์ประกอบทางพฤษเคมีของสารสกัด พบว่า สารสกัดสมอเทศมีปริมาณฟีนอลิกรวมสูงสุด ซึ่งแสดงค่าเท่ากับ 89.97 ± 10.87 g GAE/100 g สารสกัด ขณะที่สารสกัดสมอพิเภกมีปริมาณฟลาโวนอยด์รวมสูงสุด ซึ่งแสดงค่าเท่ากับ 13.11 ± 0.81 g QE/100 g สารสกัด ข้อมูลทั้งหมดที่ได้จากงานวิจัยนี้สนับสนุนการนำสมุนไพรไปพัฒนาเพื่อใช้ในทางการแพทย์และเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารในอนาคต