ประสิทธิผลการสักยาเปรียบเทียบกับการประคบสมุนไพรในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม
Main Article Content
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลการสักยาเปรียบเทียบกับการประคบสมุนไพรในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มารับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลพุเตย อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา คือ ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมที่มีอายุ 50 - 75 ปี จำนวน 50 คน การสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) แบ่งเป็น 2 กลุ่มเท่า ๆ กัน ได้แก่ กลุ่มสักยา 25 คน และกลุ่มประคบสมุนไพร 25 คน เครื่องมือที่ใช้เก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ ข้อมูลทั่วไป ระดับความรุนแรงของข้อเข่าเสื่อม (WOMAC) คุณภาพชีวิตและการวัดองศาการเคลื่อนไหวของเข่า วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ Paired-Samples T-Test และ Independent T-Test
ผลการวิจัย พบว่า การสักยาและการประคบสมุนไพรสามารถลดระดับความรุนแรงของอาการข้อเข่าเสื่อม เพิ่มองศาการเคลื่อนไหวของข้อเข่าและคุณภาพชีวิตผู้ป่วยหลังหยุดรักษา 7 วัน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม หลังหยุดการรักษา 7 วัน พบว่า การสักยาสามารถลดระดับความรุนแรงของอาการข้อเข่าเสื่อมได้มากกว่าการประคบสมุนไพร ทั้งในด้านความปวด ด้านอาการข้อฝืดและด้านความสามารถการใช้งานข้อแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.05) และเปรียบเทียบระดับคุณภาพชีวิตและองศาการเคลื่อนไหวของข้อเข่า ระหว่างกลุ่มหลังหยุดการรักษา 7 วัน พบว่า การสักยาและการประคบสมุนไพรส่งผลให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น และมีองศาการเคลื่อนไหวของข้อเข่าเพิ่มขึ้น ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การสักยาส่งผลให้ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมมีองศาการเคลื่อนไหวของข้อเข่าเพิ่มมากขึ้น สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้เป็นปกติมากขึ้น ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งยังไม่พบอาการข้างเคียงจากการรักษา