ปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเลือกบริบาลสุขภาพด้วยการแพทย์พื้นบ้าน ในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
Main Article Content
บทคัดย่อ
การเสาะแสวงหาและเลือกสรรการรักษาโรคของมนุษย์เป็นพฤติกรรมที่มีมาตั้งแต่โบราณ สำหรับประเทศไทยมีการบริบาลสุขภาพให้เลือกหลากหลายแบบ หนึ่งในนั้นคือศาสตร์การแพทย์พื้นบ้าน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่มีคุณค่าและอยู่คู่กับชาวไทยมาอย่างยาวนาน ควรค่าแก่การอนุรักษ์ การวิจัยนี้เป็นการศึกษาเชิงสำรวจแบบภาคตัดขวาง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2563 มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับการเลือกบริบาลสุขภาพด้วยการแพทย์พื้นบ้านของประชาชนในอำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 333 คน ใช้แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถามความรู้ แบบสอบถามความเชื่อ และแบบสอบถามการเลือกบริบาลสุขภาพ ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ จำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ การทดสอบความเป็นอิสระไคสแควร์ (Chi-square independent test)
ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างเป็นเพศหญิงร้อยละ 58.6 อยู่ในวัยสูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 38.4 สถานภาพสมรส ร้อยละ 61.9 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 45.9 ปัจจัยด้านคุณลักษณะทางประชากรและสังคม พบว่า เพศ อายุ สถานภาพ และอาชีพหลักมีความสัมพันธ์กับการเลือกบริบาลสุขภาพด้วยการแพทย์พื้นบ้าน (P<0.05) ปัจจัยด้านความเชื่อเกี่ยวกับการแพทย์พื้นบ้าน พบว่า มีความสัมพันธ์กับการเลือกบริบาลสุขภาพด้วยการแพทย์พื้นบ้าน (P<0.05) แต่ปัจจัยด้านความรู้เกี่ยวกับการแพทย์พื้นบ้าน พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กับการเลือกบริบาลสุขภาพด้วยการแพทย์พื้นบ้าน (P>0.05) ข้อเสนอแนะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรส่งเสริมความเชื่อที่ถูกต้องตามหลักวิชาเพื่อให้เกิดการเลือกบริบาลสุขภาพด้วยการแพทย์พื้นบ้านให้ดำรงอยู่ต่อไป มิสูญหายไปตามกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไป