การตรวจคัดกรองปริมาณสารประกอบทางเคมี ฤทธิ์ต้านออกซิเดชันและฤทธิ์ยับยั้ง การสร้างไนตริกออกไซด์ในสารสกัดอ้อยดำและเตยหอม สำหรับใช้เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ
Main Article Content
บทคัดย่อ
ในปัจจุบันได้นำอ้อยดำ (Saccharum sinense Roxb.) มาทำเป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพโดยมีการผสมกับใบเตย (Pandanus amaryllifolius Roxb.) เพื่อช่วยให้ผลิตภัณฑ์มีกลิ่นหอมน่ารับประทาน จึงทำการศึกษาข้อมูลทางด้านองค์ประกอบทางพฤษเคมีและฤทธิ์ของสารสกัดอ้อยดำหรือผสมกับใบเตยจากเครื่องดื่มสมุนไพรเปรียบเทียบผลกับสารสกัดด้วยตัวทำละลายอินทรีย์ โดยตัวอย่างที่นำมาศึกษา คือตัวอย่างที่สกัดด้วยน้ำร้อน ได้แก่ น้ำต้มอ้อยดำใบเตย (BPT) น้ำต้มอ้อยดำ (BT) น้ำต้มใบเตย (PT) และ ตัวอย่างที่สกัดด้วย 50%เอทานอล ได้แก่ สารสกัดอ้อยดำ (BE50) และ สารสกัดใบเตย (PE50) นำมาทำการวิเคราะห์องค์ประกอบของสารทางพฤกษเคมี หาปริมาณสารประกอบฟีนอลิกรวม (TPC) สารประกอบฟลาโวนอยด์ (TFC) แอนโทไซยานิน (TAC) ทดสอบฤทธิ์ต้านออกซิเดชันและฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ ผลการวิจัยพบว่ามีลักษณะลายพิมพ์โครมาโตกราฟีของสารแต่ละชนิดที่แตกต่างกันแสดงถึงองค์ประกอบของสารสำคัญแตกต่างกัน โดยสารสกัด 50%เอทานอลจะมีปริมาณ TPC TFC และ TAC สูงกว่าสารสกัดด้วยน้ำร้อน นอกจากนี้ยังพบว่า BPT มี TFC และฤทธิ์ต้านออกซิเดชันใกล้เคียงกับ BE50 ส่วนฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ พบว่า PE50 มีค่าสูงที่สุด ถึงแม้ว่าเครื่องดึ่มอ้อยดำผสมใบเตยที่ได้จากการต้มในน้ำร้อนหรือในรูปแบบชาชงอาจจะให้สารสำคัญน้อยกว่าการสกัดด้วยเอทานอลแต่ก็ยังมีฤทธิ์ต้านออกซิเดชันและฤทธิ์ยับยั้งการสร้างไนตริกออกไซด์ ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย จึงเป็นข้อมูลพื้นฐานในการศึกษาต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากอ้อยดำต่อไป