การศึกษาภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพมารดาหลังคลอดด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย: กรณีศึกษาพื้นที่ตำบลบ้านจีต อำเภอกู่แก้ว จังหวัดอุดรธานี
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาองค์ความรู้ รูปแบบภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพมารดาหลังคลอด ในพื้นที่ตำบลบ้านจีต อำเภอกู่แก้ว จังหวัดอุดรธานี วิธีวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative research design) กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 60 คน ประกอบด้วยหมอพื้นบ้าน ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้สูงอายุ หมอตำแย หญิงหลังคลอด เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยเครื่องมือวิจัย โดยใช้แบบสอบถาม แบบสัมภาษณ์ การสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วม และการสนทนากลุ่ม ผลการศึกษาวิจัยพบว่าการดูแลสุขภาพมารดาหลังคลอดในท้องถิ่นมี 4 รูปแบบ คือ 1) รูปแบบการอยู่ไฟหลังคลอด จะเป็นการใช้ถ่านอยู่ข้างแคร่ มีสมุนไพร 3 ชนิดที่ใช้ปูรองพื้น ประกอบด้วย ใบหนาด ใบเปล้าใหญ่ และใบมะขาม เพื่อช่วยให้ร่างกายอบอุ่น มดลูกเข้าอู่ ร่วมกับการนั่งถ่าน การใช้ยาสมุนไพร การอาบน้ำสมุนไพร และการให้คำแนะนำสำหรับมารดาหลังคลอด 2) รูปแบบการอยู่กรรมเย็น จะมีการดื่มยาสมุนไพร โดยใช้ยารากไม้ 4 ราก เพื่อช่วยบำรุงน้ำนม ร่วมกับการอาบน้ำสมุนไพร และการให้คำแนะนำในการดูแลสุขภาพ 3) รูปแบบการใช้ตำรับยาสมุนไพรจากองค์ความรู้ของภูมิปัญญาท้องถิ่น ประกอบด้วยยาสมุนไพรสำหรับนั่งถ่าน ยาสมุนไพรสำหรับดื่มเพื่อบำรุงร่างกาย และยาสมุนไพรที่ใช้สำหรับอาบให้กับมารดาหลังคลอด และ 4) รูปแบบการดูแลสุขภาพมารดาหลังคลอดด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลกู่แก้ว มีการอบสมุนไพร การทับหม้อเกลือ การนั่งถ่าน การประคบสมุนไพร การนวดกระตุ้นน้ำนม การนวดแบบราชสำนักทั่วร่างกายเพื่อช่วยให้ผ่อนคลาย จากการรวบรวมองค์ความรู้พบว่ายังคงสืบทอดจนถึงปัจจุบัน และได้มีการประยุกต์ให้มีการบริการในโรงพยาบาลอีกด้วย