ประสิทธิผลและความปลอดภัยของดีบัว (Nelumbo nucifera) ช่วยการนอนหลับ

Main Article Content

ศิริลักษณ์ มากมูล
ศุภรัศมิ์ อัศวพรธนภัทร
พิษณุ อุชุวัฒน์
ธัญวิสิษฐ์ เจริญยิ่ง

บทคัดย่อ

โรคนอนไม่หลับหรือ insomnia เป็นภาวะที่มีความยากลำบากในการนอนหลับซึ่งส่งผลให้เกิดความ
บกพร่องต่าง ๆ ต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน สมุนไพรเป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาแทนการใช้ยาซึ่งมักมีผลข้างเคียง มีการใช้สมุนไพรดีบัวในการช่วยให้นอนหลับแต่ยังขาดหลักฐานเชิงประจักษ์ที่เพียงพอ การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองเบื้องต้นมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เปรียบเทียบคุณภาพการนอนหลับของผู้ป่วยก่อนและหลังการรักษาภาวะนอนไม่หลับด้วยแคปซูลดีบัว และ 2) ศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของดีบัว โดยทำการคัดเลือกอาสาสมัครแบบเจาะจงจำนวน 50 คน จากผู้ที่มีอาการนอนไม่หลับที่มารับบริการที่คลินิกแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลรัตนวาปี จังหวัดหนองคาย ระหว่างเดือน สิงหาคม 2566 ถึง เดือน ธันวาคม 2566 ประเมินผลโดยใช้แบบสอบถามคุณภาพการนอนหลับของพิตต์สเบิร์ก โดยคะแนนรวม Pittsburgh Sleep Quality Index (PSQI) ที่น้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 หมายถึง มีคุณภาพการนอนที่ดี คะแนนรวมที่มากกว่า 5 คะแนน หมายถึง มีคุณภาพการนอนที่ไม่ดี วิเคราะห์ภายในกลุ่มด้วยสถิติ paired t-test ผลการศึกษาพบว่า ค่าคะแนนเฉลี่ยคุณภาพของการนอนหลับก่อนและหลังการทดลองแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p–value < 0.05) โดยมีค่า PSQI อยู่ในระดับ 15.24 ± 1.19 และ 1.82 ± 0.69 ตามลำดับ ผลการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของอาการไม่พึงประสงค์ พบว่า อาสาสมัครร้อยละ 98 ไม่พบอาการไม่พึงประสงค์หลังเข้าร่วมการทดลอง มีเพียง 1 ราย มีอาการใจสั่นเล็กน้อย ผลการศึกษาครั้งนี้สรุปได้ว่าดีบัวสามารถช่วยเพิ่มคุณภาพการนอนหลับในผู้ป่วยที่มีภาวะนอนไม่หลับได้โดยมีผลข้างเคียงน้อยในผู้ป่วยเฉพาะราย จึงอาจใช้เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาแทนการใช้ยาหรือใช้ควบคู่ไปกับยาอย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาเพิ่มเติมในระยะยาวรวมถึงกลไกการออกฤทธิ์ของสารพฤกษเคมีต่างๆ ในดีบัวเพื่อยืนยันประสิทธิภาพและความปลอดภัยของดีบัวมาใช้รักษาภาวะการนอนไม่หลับ

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ