ผลของโปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนต่อพฤติกรรมสุขภาพใน ผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
คำสำคัญ:
การส่งเสริมสมรรถนะแห่งตน, ผู้สูงอายุ, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, พฤติกรรมสุขภาพบทคัดย่อ
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง ศึกษาสองกลุ่ม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนต่อพฤติกรรมสุขภาพในผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มารับบริการคลินิกโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังและหอบหืดผู้ใหญ่ โรงพยาบาลระดับทุติยภูมิแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 54 คน เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน พ.ศ. 2559 คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณลักษณะที่กำหนด และสุ่มอย่างง่ายเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 27 คน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนในผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โดยใช้กรอบแนวคิดทฤษฎีการรับรู้สมรรถนะแห่งตนของ Bandura ประกอบด้วยสื่อวีดิทัศน์ให้ความรู้และนำเสนอตัวแบบผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง คู่มือการดูแลตนเองและแบบบันทึกการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ แผนการติดตามเยี่ยมทางโทรศัพท์ และแบบวัดการรับรู้ความเหนื่อยในการออกกำลังกายของ Borg ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลตามปกติ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย 1) แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล และ 2) แบบสอบถามพฤติกรรมสุขภาพผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง วิเคราะห์ข้อมูลโดยเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยพฤติกรรมสุขภาพผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หลังการทดลอง ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม ด้วยสถิติ Non-parametric แบบ Mann-Whitney U test
ผลการศึกษาพบว่า หลังการทดลอง ผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังกลุ่มที่ได้รับโปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนมีค่าเฉลี่ยอันดับที่ของคะแนนพฤติกรรมสุขภาพสูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< .001) โดยค่าเฉลี่ยของคะแนนพฤติกรรมสุขภาพรายด้านเพิ่มขึ้นทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมสุขภาพ การผ่อนคลาย และการบริหารการหายใจและออกกำลังกาย
ข้อเสนอแนะ โปรแกรมการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนสามารถนำไปใช้กับผู้สูงอายุโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในช่วงของการเตรียมวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาล ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีความเชื่อมั่นในตนเอง ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเหมาะสมกับโรคที่เป็นอยู่
Downloads
เผยแพร่แล้ว
ฉบับ
บท
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของ วารสารสุขภาพและการศึกษาพยาบาล ซึ่งดำเนินการโดยวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา
ข้อความที่ปรากฏในบทความในวารสารเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับกองบรรณาธิการวารสารสุขภาพและการศึกษาพยาบาล หรือวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใดๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว