พลังงานและสารอาหารที่ได้รับระหว่างตั้งครรภ์ของหญิงไทยกรณีศึกษา ณ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

ผู้แต่ง

  • ณัฐนรี แสงเขตต์
  • สืบพงษ์ กอวชิรพันธ์

คำสำคัญ:

พลังงานและสารอาหาร, หญิงตั้งครรภ์, ดัชนีมวลกายก่อนตั้งครรภ์

บทคัดย่อ

บทคัดย่อ

        การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินการได้รับพลังงานและสารอาหารของหญิงตั้งครรภ์ในแต่ละไตรมาส และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการศึกษา อาชีพ รายได้ ดัชนีมวลกายก่อนตั้งครรภ์ ต่อปริมาณพลังงานและสารอาหารที่ได้รับในแต่ละไตรมาส โดยใช้วิธีสัมภาษณ์ข้อมูลทั่วไป สัมภาษณ์การบริโภคอาหารย้อนหลัง 24 ชั่วโมง เป็นเวลา 1 วัน ในแต่ละไตรมาส คำนวณพลังงานและสารอาหารต่างๆ เปรียบเทียบกับปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2546

        ผลการศึกษาหญิงตั้งครรภ์จำนวน 514 คน ได้รับพลังงานจากอาหารในไตรมาสแรก ไตรมาสที่สองและสาม เท่ากับ 1,469.2, 1,800.4 และ 1,847.2 กิโลแคลอรีต่อวัน (ร้อยละ 81.6, 87.8 และ 90.1 ของเกณฑ์อ้างอิง) สัดส่วนการกระจายของพลังงานแต่ละไตรมาสอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม (คาร์โบไฮเดรต:โปรตีน:ไขมัน คิดเป็น 56:17:27, 54:17:29 และ 54:17:29ตามลำดับ) การได้รับแร่ธาตุและวิตามิน ได้แก่ แคลเซียม ไธอะมิน ไรโบฟลาวิน และวิตามินซี อยู่ในช่วงร้อยละ 62-91, 73-99, 88-116 และ 89-110 ตามลำดับ ในขณะที่ธาตุเหล็กและวิตามินเอได้รับเพียง ร้อยละ 11-14 และ 45-62 ของเกณฑ์อ้างอิง จะเห็นได้ว่าปริมาณพลังงานและสารอาหารที่หญิงตั้งครรภ์ได้รับอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ทั้งสามไตรมาส (มากกว่าร้อยละ 70 ของเกณฑ์อ้างอิง) ยกเว้นธาตุเหล็กและวิตามินเอได้รับต่ำกว่าเกณฑ์ที่ยอมรับได้ในทุกไตรมาส เมื่อทดสอบความสัมพันธ์ด้วย Spearman correlation พบว่า ระดับการศึกษาของหญิงตั้งครรภ์มีความสัมพันธ์เชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับปริมาณไขมันที่ได้รับในทุกไตรมาส (p<0.05)ในไตรมาสที่สามพบว่า การศึกษามีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการได้รับพลังงาน โปรตีน และธาตุเหล็กจากพืช (p<0.05) ในขณะที่ดัชนีมวลกายก่อนตั้งครรภ์ อาชีพ และรายได้ของหญิงตั้งครรภ์ ไม่มีความสัมพันธ์กับการได้รับพลังงานและสารอาหารต่างๆ (p>0.05)

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-28