ความฉลาดทางสุขภาพด้านพฤติกรรมการดูแลตนเองกับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จังหวัดชัยนาท

ผู้แต่ง

  • วรรณรัตน์ รัตนวรางค์
  • วิทยา จันทร์ทา

คำสำคัญ:

ความฉลาดทางสุขภาพ, องค์ประกอบความฉลาดทางสุขภาพ, ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2, พฤติกรรมการดูแลตนเอง, ค่าระดับน้ำตาลในเลือด

บทคัดย่อ

        การรักษาผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ได้ผล ต้องอาศัยการรักษาที่ต่อเนื่องและมีการดูแลพฤติกรรมสุขภาพที่ดีควบคู่กัน หากผู้ป่วยมีความฉลาดทางสุขภาพจะช่วยให้การรักษาได้ผลดีขึ้น การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคลกับความฉลาดทางสุขภาพ และอิทธิพลขององค์ประกอบของความฉลาดทางสุขภาพที่มีผลต่อพฤติกรรมการดูแลตนเอง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จังหวัดชัยนาท จำนวน 366 คน โดยใช้แบบสัมภาษณ์ประกอบด้วยข้อมูลทั่วไป พฤติกรรมการดูแลตนเอง แบบประเมินความฉลาดทางสุขภาพ และข้อมูลจากเวชระเบียนผู้ป่วย ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ไคสแควร์ สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบมีขั้นตอน

        ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่มีความฉลาดทางสุขภาพระดับเพียงพอ มีร้อยละ 6.0 ในขณะที่ระดับก้ำกึ่ง (ร้อยละ 64.2) และระดับไม่เพียงพอ (ร้อยละ 29.8) รวมกันร้อยละ 94.0 ปัจจัยด้านอายุ ระดับการศึกษา การประกอบอาชีพ รายได้ และระยะเวลาที่เป็นเบาหวานมีความสัมพันธ์กับความฉลาดทางสุขภาพ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบความฉลาดทางสุขภาพ ซึ่งได้แก่ ความรู้ความเข้าใจและการแปลความหมาย การจัดการเงื่อนไขทางสุขภาพ และการตัดสินใจเลือกปฏิบัติ สามารถร่วมทำนายพฤติกรรมการดูแลตนเองได้ร้อยละ 17.9 (R2 = .179, p < .001) โดยตัวแปรการจัดการเงื่อนไขทางสุขภาพสามารถทำนายพฤติกรรมการดูแลตนเองได้ดีที่สุด (ß = .170, p < .001)

        องค์ประกอบของความฉลาดทางสุขภาพมีความสัมพันธ์แปรผันตามกับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ดังนั้นหากบุคลากรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการเพื่อเพิ่มความฉลาดทางสุขภาพให้ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จะเป็นแนวทางการดูแลรักษาสุขภาพผู้ป่วยให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-28