ศึกษาสถานการณ์การติดเชื้อ การดำเนินงานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อของโรงพยาบาล ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ผู้แต่ง

  • นรีลักษณ์ สุวรรณโนบล
  • จินตนา ตาปิน
  • ศรีเกียรติ อนันต์สวัสดิ์

คำสำคัญ:

สถานการณ์การติดเชื้อ, การป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ

บทคัดย่อ

        การวิจัยเชิงบรรยาย (Descriptive research) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์การติดเชื้อ การดำเนินงานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อของโรงพยาบาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ โรงพยาบาลทั้งหมดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 320 แห่ง คำนวณกลุ่มตัวอย่าง ได้จำนวนกลุ่มตัวอย่าง 192 แห่ง  แล้วสุ่มกลุ่มตัวอย่างจำนวนโรงพยาบาลในแต่ละระดับแบบชั้นภูมิตามสัดส่วนกับประชากร ได้กลุ่มตัวอย่างโรงพยาบาลศูนย์ 4 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 13 แห่ง และโรงพยาบาลชุมชน 175 แห่ง  ผู้ให้ข้อมูลคือผู้รับผิดชอบงานควบคุมและป้องกันการติดเชื้อ เครื่องมือคือ แบบสอบถาม สถานการณ์การติดเชื้อในโรงพยาบาล  และการดำเนินงานการควบคุมและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล หาความเที่ยงของเครื่องมือแบบสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาคได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.95

        ผลการวิจัยพบว่าโรงพยาบาลชุมชนมีประสิทธิภาพการเฝ้าระวังมากที่สุด สำหรับจำนวนครั้งของการติดเชื้อในส่วนโรงพยาบาลศูนย์มีจำนวนครั้งของการติดเชื้อในโรงพยาบาลมากที่สุด อัตราการติดเชื้อ จำแนกตามตำแหน่งที่มีจำนวนครั้งของการติดเชื้อมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ การติดเชื้อปอดอักเสบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ รองลงมาคือการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะที่สัมพันธ์กับการคาสายสวนปัสสาวะ และแผลผ่าตัด ส่วนการดำเนินงานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลพบว่า     โรงพยาบาลศูนย์ มีคะแนนเฉลี่ยทุกด้านในระดับมาก และสูงกว่าโรงพยาบาลระดับอื่น  สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อในโรงพยาบาลตามลำดับปัญหาได้แก่ ด้านนโยบาย ด้านบุคลากร ด้านงบประมาณ ด้านการปฏิบัติตามมาตรฐาน และด้านโครงสร้างอาคารสถานที่

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2018-12-28