การรับรู้อุปสรรคการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ ทัศนคติ และประสบการณ์ การวิจัยต่อการปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ของพยาบาลวิชาชีพ ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

ผู้แต่ง

  • กิตติยารัตน์ ต้นสุวรรณ์
  • นันทวัน สุวรรณรูป
  • นันทิยา วัฒายุ

คำสำคัญ:

อุปสรรคการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์, พยาบาลวิชาชีพหน่วยบริการปฐมภูมิ

บทคัดย่อ

          การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้อุปสรรค ทัศนคติ และประสบการณ์การวิจัยกับการปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ของพยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล กลุ่มตัวอย่างได้จากการสุ่มรายชื่อพยาบาลใน 5 จังหวัดของเขตบริการสุขภาพที่ 3 จำนวน 234 คน ส่งแบบสอบถามกลับคืนทางไปรษณีย์จำนวน 151 คนคิดเป็นอัตราตอบกลับร้อยละ 64.53 เครื่องมือการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามการรับรู้อุปสรรคการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ ทัศนคติต่อหลักฐานการวิจัย ประสบการณ์การวิจัย และการปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสหสัมพันธ์เพียร์สัน ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างอายุเฉลี่ย 43.41 ปี (SD = 5.99) จบการศึกษาระดับปริญญาตรี (ร้อยละ 92.70) มีคะแนนเฉลี่ยการปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์และการรับรู้อุปสรรคอยู่ในระดับปานกลาง อุปสรรคที่พบมากที่สุดคือการรายงานผลการวิจัยเป็นภาษาอังกฤษ ประสบการณ์การวิจัยอยู่ในระดับน้อย การรับรู้อุปสรรคมีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทิศทางลบต่อการปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ (r (151) = -506, p < .01) ทัศนคติ และประสบการณ์การวิจัยมีความสัมพันธ์ในทิศทางบวกกับการปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้หลักฐานเชิงประจักษ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r (151) =.538, p < .01; r(151) = .311, p < .01) จากผลการวิจัยเสนอแนะว่าสถานบริการสุขภาพปฐมภูมิควรหากลวิธีในการสนับสนุนพยาบาลเพื่อลดอุปสรรคและเสริมสร้างทักษะของกระบวนการใช้หลักฐานเชิงประจักษ์ผ่านการอบรมที่เหมาะสม นอกจากนี้การศึกษาอบรมด้านการวิจัยควรมีการวางแผนอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมการทeวิจัยโดยมีทีมที่ปรึกษาด้านการวิจัยคอยให้ความช่วยเหลือ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-12-30