ประสิทธิผลของการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยใช้กลุ่มแม่อาสาต่อความรู้ ทัศนคติ พฤติกรรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และความคิดเห็นต่อการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยใช้กลุ่มแม่อาสาของมารดาหลังคลอด

ผู้แต่ง

  • ขนิษฐา เมฆกมล
  • อารีรัตน์ วิเชียรประภา
  • พรฤดี นิธิรัตน์
  • วาสนา งามการ
  • สุภัค สิทธิโชติ

คำสำคัญ:

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่, แม่อาสา, การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่, การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน, มารดาหลังคลอด

บทคัดย่อ

อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนในประเทศไทยน้อยกว่าร้อยละ 50 ซึ่งไม่บรรลุเป้าหมายตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก การวิจัยกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยใช้กลุ่มแม่อาสา (Breastfeeding Promotion by a Volunteer Mother Group Program [BPG]) ต่อความรู้ ทัศนคติ พฤติกรรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และความคิดเห็นต่อ BPG ของมารดา ต. เกาะขวาง เป็นการวิจัยแบบกลุ่มเดียว วัดผลก่อนและหลังทดลอง กลุ่มตัวอย่างเป็นมารดาหลังคลอดใน อ.เมือง จ.จันทบุรี จำนวน 30 คน เครื่องมือวิจัย ได้แก่ BPG ซึ่งพัฒนาตามแนวคิดการสนับสนุนทางสังคมของ House เก็บข้อมูลก่อนและหลังการทดลองด้วยแบบสอบถามเพื่อประเมินความรู้ทัศนคติ และพฤติกรรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนและความคิดเห็นต่อ BPG ของมารดาหลังคลอด วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติทดสอบทีแบบประชากรไม่อิสระต่อกัน ผลการวิจัย พบว่า หลัง BPG ค่าเฉลี่ยทัศนคติการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สูงกว่าก่อนได้รับ BPG อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ, t(29) = -3.23, p = .002 และความคิดเห็นต่อ BPG ของมารดาหลังคลอด มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (M = 4.26, SD = 0.809) แต่สำหรับค่าเฉลี่ยความรู้และพฤติกรรมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ, t(29) =  -1.31, p = .263 และ t(29) = -3.3, p = .199 ดังนั้นบุคลากรสาธารณสุขควรมีการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่โดยใช้กลุ่มแม่อาสาเพื่อให้มารดามีทัศนคติเชิงบวกในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-06-30