ผลการสอนโดยใช้สื่อวีดิทัศน์เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ป่วยก่อนระงับความรู้สึกต่อระดับความรู้และความพึงพอใจสื่อการสอน ผู้ป่วยที่มารับบริการผ่าตัดแบบนัดหมายล่วงหน้า

ผู้แต่ง

  • จารุจิต ประจิตร
  • อัศนี วันชัย
  • ศุภิสรา สุวรรณชาติ

คำสำคัญ:

การสอนก่อนระงับความรู้สึก, สื่อวีดิทัศน์, ระดับความรู้, ความพึงพอใจสื่อการสอน

บทคัดย่อ

การให้ข้อมูลด้วยการบอกเล่าข้างเตียงโดยไม่มีสื่อการสอน ทำให้ผู้ป่วยได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วนส่งผลให้ปฏิบัติตัวไม่ถูกต้องและต้องเลื่อนการผ่าตัด การวิจัยแบบกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการให้ข้อมูลโดยใช้สื่อวีดิทัศน์ต่อความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวก่อน ขณะและหลังได้รับยาระงับความรู้สึกด้วยการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง และความพึงพอใจต่อวีดิทัศน์  กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยที่ได้รับยาระงับความรู้สึกด้วยการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลังจำนวน 30 ราย เครื่องมือในการวิจัย คือ สื่อวีดิทัศน์ ผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญ 5 ท่าน ได้ค่าดัชนีความตรงตามเนื้อหาเท่ากับ .91 เก็บข้อมูลด้วยแบบทดสอบความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวก่อน ขณะและหลังได้รับยาระงับความรู้สึกด้วยการฉีดยาชาเข้าช่องไขสันหลัง  ที่ผ่านการนำไปทดลองใช้กับผู้ป่วยที่มีลักษณะคล้ายกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30 ราย ได้ค่าความเชื่อมั่นของแบบทดสอบ (Kuder-Richardson 20) เท่ากับ .80 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติทดสอบทีแบบประชากรไม่เป็นอิสระต่อกัน พบว่า ค่าเฉลี่ยคะแนนความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวก่อน ขณะ และหลังได้รับยาระงับความรู้สึกด้วยการฉีดยาเข้าช่องไขสันหลัง หลังได้รับการสอนด้วยสื่อวีดิทัศน์ (M =16.17, SD = 1.97 ) สูงกว่าก่อนได้รับการสอน (M = 9.37, SD = 3.20) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ, t(29) = -10.09, p < .01, d = 2.55 ผู้ป่วยมีความพึงพอใจต่อสื่อวีดิทัศน์ในระดับมากที่สุด (M = 4.67, SD = 0.52) ควรมีการส่งเสริมให้ใช้สื่อวีดิทัศน์เพื่อให้ข้อมูลผู้ป่วย

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-06-30