ผลของโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่อการควบคุมภาวะแทรกซ้อน ของผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนไตเรื้อรัง

ผู้แต่ง

  • เบญจวรรณ กล้าถิ่นภู
  • นงนุช โอบะ
  • สุภาพร แนวบุตร

คำสำคัญ:

ผู้ป่วยเบาหวาน, ภาวะแทรกซ้อนไตเรื้อรัง, โปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม, การควบคุมภาวะแทรกซ้อน

บทคัดย่อ

เบาหวานเป็นโรคที่เป็นปัญหาสำคัญทางด้านสาธารณสุข การศึกษาวิจัยกึ่งทดลองนี้ มีจุดประสงค์เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่อการควบคุมภาวะแทรกซ้อนไตวายเรื้อรังแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวาน กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มีผลอัตราการกรองของไตระยะที่ 3 ที่มารับบริการที่ โรงพยาบาลแม่วงก์ คัดเลือกแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน 30 คน เครื่องมือในการวิจัย คือ โปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ประกอบด้วยการให้ความรู้ การบันทึกการรับประทานยา  การแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบกลุ่มย่อย และการโทรศัพท์เตือน เก็บรวบรวมข้อมูลด้วยแบบสอบถามพฤติกรรมสุขภาพด้านการรับประทานอาหารและยา และแบบบันทึกข้อมูลทางคลินิก เครื่องมือได้รับการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน และแบบสอบถามได้รับการตรวจสอบความเที่ยงด้วยค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบากในแต่ละด้านได้เท่ากับ .76 และ .73 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิติทดสอบที ผลการวิจัยพบว่า หลังการทดลองค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมด้านการรับประทานอาหาร การรับประทานยา และอัตราการกรองของไต สูงกว่าก่อนทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ, t(29) = -4.83, p < .001;  t(29) = -5.69, p < .001; t(29) = 4.72,  p < .001 ตามลำดับส่วนค่าเฉลี่ยของระดับน้ำตาลในเลือด ความดันซิสโตลิก  ความดันไดแอสโตลิก และระดับไขมันแอลดีแอลในเลือด ต่ำกว่าก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ, t(29) = -3.89, p < .001; t(29) = 4.31, p < .001; t(29) = 3.72, p < .001; t(29) = 3.22, p < .01 ตามลำดับ แสดงว่าโปรแกรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนี้มีผลในการควบคุมภาวะแทรกซ้อนทางไตของผู้ป่วยโรคเบาหวาน จึงควรนำไปประยุกต์ใช้ในผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนไตเรื้อรัง ระดับ 4 และ 5 เพื่อชะลอการเสื่อมของไต

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-06-30