ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับระดับไขมันในเลือดของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง และ/หรือเบาหวาน: กรณีศึกษาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านอุ่ม จังหวัดอำนาจเจริญ

ผู้แต่ง

  • โกเวช ทองเทพ
  • อ้อมใจ แต้เจริญวิริยะกุล

คำสำคัญ:

ปัจจัยทำนาย, ไขมันในเลือด, โรคความดันโลหิตสูง, โรคเบาหวาน

บทคัดย่อ

ภาวะไขมันในเลือดผิดปกติเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและเสียชีวิตได้ งานวิจัยแบบหาความสัมพันธ์เชิงทำนายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ปัจจัยกระบวนการใช้ปัจจัยหลักหรือปัจจัยนํา ปัจจัยเอื้อและปัจจัยเสริมในการวินิจฉัย และประเมินผลการดําเนินงานสุขศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ประกอบด้วย ปัจจัยนํา ได้แก่ การรับรู้เกี่ยวกับภาวะไขมันผิดปกติ ปัจจัยเอื้อ ได้แก่ ทรัพยากร และกิจกรรมส่งเสริมสุขภาพในชุมชน และปัจจัยเสริม ได้แก่ การได้รับข้อมูลข่าวสารและคำแนะนำในการดูแลสุขภาพจากบุคคลต่าง ๆ 2) ความสามารถร่วมกันทํานายของปัจจัยต่าง ๆ ต่อระดับไขมันในเลือด (คอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และเอชดีแอล) ของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง และหรือโรคเบาหวาน ในตำบลบ้านอุ่ม จังหวัดอำนาจเจริญ กลุ่มตัวอย่างคือผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงและ/หรือโรคเบาหวาน จํานวน 127 คน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามที่ผู้วิจัยจัดทำขึ้น มีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าของครอนบาก เท่ากับ .78 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา และสถิติวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อายุเฉลี่ย 50 ปี (SD =10.6) มีปัจจัยนำในระดับมาก (M = 2.62, SD = 0.66) ปัจจัยเอื้อ และปัจจัยเสริม ระดับปานกลาง (M = 2.11, SD = 0.82, M = 1.96, SD = 0.85) ปัจจัยนำสามารถทำนายระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดได้ ร้อยละ 3.5 (R2= .035, p < .05) ปัจจัยเอื้อ สามารถทำนายระดับเอชดีแอลในเลือดได้ ร้อยละ 4.6 (R2= .046, p < .05) ปัจจัยเสริม สามารถทำนายระดับคอเลสเตอรอลในเลือดได้ ร้อยละ 17.7 (R2= .177, p < .05) สรุปได้ว่า ปัจจัยนำ ปัจจัยเอื้อ และปัจจัยเสริมมีผลต่อระดับไขมันในเลือด ซึ่งการควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ทำให้ควบคุมระดับไขมันในเลือดได้ ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเรื้อรังได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-06-30