ความสัมพันธ์ระหว่างความรอบรู้ด้านสุขภาพกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุ ตำบลหมื่นไวย อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ผู้แต่ง

  • กัญนิกา อยู่สำราญ
  • ศรีสกุล ชนะพันธ์
  • พานิช แก่นกาญจน์

คำสำคัญ:

ความรอบรู้ด้านสุขภาพ, พฤติกรรมการดูแลสุขภาพ, ผู้สูงอายุ

บทคัดย่อ

ความรอบรู้ด้านสุขภาพจะช่วยส่งเสริมและคงไว้ซึ่งภาวะสุขภาพที่ดีของผู้สุงอายุที่มีปัญหาทางสุขภาพได้ การวิจัยครั้งนี้เป็นวิจัยเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรอบรู้ด้านสุขภาพ พฤติกรรมในการดูแลสุขภาพตนเอง และความสัมพันธ์ระหว่างความรอบรู้ด้านสุขภาพกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเอง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุ (อายุ 60-80 ปี) ในเขตความรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโพนสูง ตำบลหมื่นไวย อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 172 คน ได้มาจากการสุ่มอย่างง่าย  เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามความรอบรู้ด้านสุขภาพ และแบบสอบถามพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเอง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และสถิติเชิงอนุมานด้วยสถิติ ฟิชเชอร์ เอคแซค เทส กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 ผลการวิจัยพบว่าผู้สูงอายุมีอายุเฉลี่ย 67.22 ปี (SD =5.59) เป็นเพศหญิง (ร้อยละ 54.65) จบการศึกษาระดับประถมศึกษา (ร้อยละ 62.21) ไม่เคยได้รับการอบรมการดูแลสุขภาพตนเองจากหน่วยงาน  ต่าง ๆ (ร้อยละ 64.53) อ่านหนังสือออก เขียนได้ (ร้อยละ 87.79) มีอินเทอร์เน็ตใช้ในครอบครัว (ร้อยละ 63.37) ใช้เป็นแต่ไม่คล่อง (ร้อยละ 49.54) ใช้เพื่อผ่อนคลาย (ร้อยละ 39.45) และมีความรอบรู้ด้านสุขภาพในการตัดสินใจระดับสูง  (ร้อยละ 51.16) ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองด้านอากาศ ระดับดี (M = 2.48, SD = 0.53) พฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุมีความสัมพันธ์ระหว่างความรอบรู้ด้านสุขภาพ ประเด็นความรู้ความเข้าใจ การเข้าถึงข้อมูล การสื่อสาร การตัดสินใจ การจัดการตนเอง และการรู้เท่าทันสื่อในการดูแลสุขภาพ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) ควรมีการจัดโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพในด้านการเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-06-30