ประสิทธิผลของการใช้รูปแบบพยาบาลพี่เลี้ยงในหอผู้ป่วยหนักอายุรกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา

ผู้แต่ง

  • นภวรรณ ปาณาราช
  • จิตรภินันท์ ศรีจักรโคตร

คำสำคัญ:

พยาบาลพี่เลี้ยง, พยาบาลจบใหม่, หอผู้ป่วยหนักอายุรกรรม

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง ศึกษาแบบกลุ่มเดียววัดผลก่อนและหลังการทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการใช้รูปแบบพยาบาลพี่เลี้ยงในหอผู้ป่วยหนักอายุรกรรมโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ได้แก่ พยาบาลพี่เลี้ยง 19 คน และพยาบาลจบใหม่ 13 คน เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองคือ รูปแบบพยาบาลพี่เลี้ยงในหอผู้ป่วยหนักอายุรกรรมที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น เก็บข้อมูลด้วยแบบประเมินประสิทธิผลของการทดลองใช้รูปแบบพยาบาลพี่เลี้ยง ประกอบด้วย การประเมิน 4 ด้าน คือ ด้านความรู้ ด้านทัศนคติ ด้านทักษะการปฏิบัติการพยาบาล และด้านความพึงพอใจต่อรูปแบบพยาบาลพี่เลี้ยง มีค่าความเที่ยงตรงเชิงเนื้อหาเท่ากับ .80 และมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .84, .90, .94 และ .80 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติวิลคอกซัน ผลการวิจัยพบว่าหลังการพัฒนารูปแบบพยาบาลพี่เลี้ยงพยาบาลพี่เลี้ยงมีความรู้ (Z = -3.84, p < .001) ทัศนคติ (Z = -3.15, p = .002) และทักษะการปฏิบัติบทบาทพยาบาลพี่เลี้ยง (Z = -2.99, p = .003) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และพยาบาลจบใหม่มีความรู้ (Z = -3.20, p = .001) ทัศนคติ (Z = -2.56, p = .011) และทักษะการปฏิบัติบทบาทพยาบาลพี่เลี้ยง (Z = -3.06, p = .002) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเช่นเดียวกัน โดยทั้ง 2 กลุ่มมีความพึงพอใจในรูปแบบพยาบาลพี่เลี้ยงที่พัฒนาขึ้นในระดับมากที่สุด (M = 4.68, SD = .25) ทำให้สรุปได้ว่ารูปแบบพยาบาลพี่เลี้ยงนี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการพยาบาลและเป็นแนวทางในการนำไปใช้กับหน่วยงานอื่นได้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-30