รูปแบบและปัจจัยทำนายพฤติกรรมการบริโภคอาหารพร้อมรับประทานที่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อ ของนักศึกษาพยาบาลในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ผู้แต่ง

  • รสสุคนธ์ พิไชยแพทย์
  • วรรณา ธนานุภาพไพศาล
  • สุชาฎา คล้ายมณี
  • ผกาทิพย์ สิงห์คำ
  • ศรีสุพรรณ นันทไพบูลย์
  • อุษณีวรรณ เคล้ากระโทก

คำสำคัญ:

พฤติกรรมการบริโภคอาหาร, นักศึกษาพยาบาล, ปัจจัยทำนาย

บทคัดย่อ

การบริโภคอาหารพร้อมรับประทานจากร้านสะดวกซื้อโดยไม่พิจารณาข้อมูลด้านสุขภาพ ทำให้เกิดปัญหาภาวะโภชนาการ โรคเรื้อรังและผลกระทบต่อสุขภาพ การวิจัยเชิงพรรณนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบและปัจจัยทำนายพฤติกรรมการบริโภคอาหารพร้อมรับประทานที่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อ  โดยประยุกต์ใช้ทฤษฎีแบบแผนความเชื่อทางด้านสุขภาพ กลุ่มตัวอย่างคือนักศึกษาวิทยาลัยพยาบาลสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก เครือข่ายภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 แห่ง จำนวน 356 คน ใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิ เครื่องมือที่ใช้คือ แบบสอบถาม ทดสอบความเที่ยงได้ค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของคอนบรากเท่ากับ .93 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และการวิเคราะห์การถดถอยอย่างง่าย ผลการวิจัยพบว่าการวิเคราะห์ระดับอำนาจการทำนายปัจจัยทั้ง 5 ด้านสามารถร่วมกันทำนายพฤติกรรมการซื้ออาหารพร้อมรับประทานจากร้านสะดวกซื้อได้ร้อยละ 14.6 ปัจจัยความเชื่อทางสุขภาพที่สามารถทำนายได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 มี 3 ปัจจัยคือ ด้านสิ่งชักนำให้เกิดการปฏิบัติ (β = -.396, p < .001) มีอำนาจทำนายมากที่สุด ปัจจัยที่มีความสามารถทำนายรองลงมาคือ การรับรู้ความรุนแรงของโรค (β = -.224, p < .001) และปัจจัยการรับรู้ต่ออุปสรรค (β = .132, p < .01) ตามลำดับ การวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าการมีระดับความเชื่อทางสุขภาพที่เหมาะสม จะผลักดันให้บุคคลหลีกเลี่ยงจากปัญหาสุขภาพด้วยการเลือกวิธีการปฏิบัติที่เห็นว่าดีที่สุด ควรใช้ผลการวิจัยนี้เป็นแนวทางพัฒนารูปแบบการให้ข้อมูลความรู้ในการเลือกบริโภคอย่างชาญฉลาดและจัดบริการทางเลือกในการจำหน่ายอาหารสุขภาพในวิทยาลัยฯ

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-30