ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการป้องกันโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ของผู้ดูแลผู้ป่วยเด็ก โรงพยาบาลตรัง

ผู้แต่ง

  • อัศรีย์ พิชัยรัตน์
  • เบญจวรรณ ช่วยแก้ว
  • จันทร์เพ็ญ เลิศวนวัฒนา

คำสำคัญ:

อุจจาระร่วงเฉียบพลัน, ผู้ดูแล, ผู้ป่วยเด็ก

บทคัดย่อ

โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันเป็นโรคที่พบบ่อยและเป็นสาเหตุหนึ่งของการเสียชีวิตในเด็กทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทย การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทำนายพฤติกรรมการป้องกันโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันของผู้ดูแลเด็กป่วย กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ดูแลผู้ป่วยเด็กโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตรัง จำนวน 77 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบสอบถามการรับรู้ 4 ด้าน คือ ความเสี่ยงของการเกิดโรค การรับรู้ความรุนแรงของโรค การรับรู้ประโยชน์ของการป้องกัน การรับรู้อุปสรรคในการป้องกันโรค และแบบสอบถามพฤติกรรมการป้องกันโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน ผ่านการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาและมีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาก เท่ากับ .83, .82, .85, .87, และ .87 ตามลำดับ ส่วนแบบสอบถามความรู้การป้องกันโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และแหล่งข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน มีค่า KR-20 เท่ากับ .72 และ .79 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน ผลการวิจัย พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนพฤติกรรมการดูแลและป้องกันโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน เฉลี่ยเท่ากับ 17.49 คะแนน (SD = 1.84) ความรู้การป้องกันโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน การรับรู้ความเสี่ยงของการเกิดโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน และการรับรู้อุปสรรคของการปฏิบัติพฤติกรรมการป้องกันโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน สามารถทำนายพฤติกรรมการป้องกันโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันของกลุ่มตัวอย่างได้ร้อยละ 57.64 (p < .01) ดังนั้น พยาบาลจึงควรวางแผนการพยาบาลเพื่อส่งเสริมความรู้เกี่ยวกับการป้องกันโรคและส่งเสริมการรับรู้เกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคแก่ผู้ดูแล รวมถึงช่วยให้ผู้ดูแลสามารถลดอุปสรรคในการปฏิบัติพฤติกรรมป้องกันโรคนี้ เพื่อลดอัตราการเกิดโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันในเด็ก

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-30