ผลการใช้สื่อวีดิทัศน์ต่อความรู้และทักษะการทำอาหารทางสายสำหรับผู้ดูแลผู้ป่วยที่ใส่สายให้อาหารโรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก

ผู้แต่ง

  • ณัฐฐศรัณฐ์ วงศ์เตชะ
  • กิตติพร เนาว์สุวรรณ
  • วิภารัตน์ สุวรรณไวพัฒนะ

คำสำคัญ:

สื่อวีดิทัศน์, ความรู้, การทำอาหารทางสาย, อาหารทางสาย, ผู้ดูแล

บทคัดย่อ

การให้ความรู้และฝึกทักษะการทำอาหารทางสายยางกับผู้ดูแลเป็นสิ่งจำเป็นก่อนกลับไปดูแลผู้ป่วยที่บ้านเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน การวิจัยกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความรู้เกี่ยวกับอาหารทางสายและทักษะการทำอาหารทางสายของผู้ดูแลผู้ป่วยที่ใส่สายให้อาหารโรงพยาบาลแม่สอด จังหวัดตาก ก่อนและหลังการทดลองใช้สื่อวีดิทัศน์สองภาษา ผู้ร่วมวิจัยคือ ผู้ดูแลผู้ป่วยที่ใส่สายให้อาหาร ระหว่างเดือนตุลาคม 2562 – กรกฎาคม 2563 จำนวน 33 คน เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง คือ สื่อวีดิทัศน์สองภาษาโดยใช้เสียงพากย์ไทย คำบรรยายภาษาพม่า โดยพัฒนาขึ้นอย่างเป็นระบบจากหลักฐานเชิงประจักษ์ และความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบสอบถามวัดความรู้เกี่ยวกับการทำอาหารทางสาย ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .65 และแบบประเมินวัดทักษะในการทำอาหารทางสายให้อาหารของผู้ดูแลผู้ป่วยที่ใส่สายให้อาหาร ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .71 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ Dependent t-test และ Wilcoxon sign rang test ผลการศึกษาพบว่า ผู้ร่วมวิจัยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 73.8) เป็นญาติ มีอายุต่ำกว่า 40 ปี (ร้อยละ 54.6) และมีการศึกษาในประถมศึกษา (ร้อยละ 42.4) หลังการทดลองสอนโดยใช้สื่อวีดิทัศน์สองภาษา ผู้ดูแลผู้ป่วยที่ใส่สายให้อาหารมีความรู้และทักษะการทำอาหารทางสาย (M = 14.76, SD = 0.78) สูงกว่าก่อนการทดลอง (M = 9.27, SD = 2.34) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001, t(32) = -12.86, p < .001 ดังนั้นโรงพยาบาลแม่สอดจึงควรนำสื่อวีดิทัศน์สองภาษาไปใช้ต่อไป และนำไปปรับใช้ในโรงพยาบาลอื่น และควรส่งเสริมความรู้และทักษะการเตรียมอาหารทางสายทั้งในผู้ดูแลและอาสาสมัครสาธารณสุข

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-30