การพัฒนาโปรแกรมส่งเสริมพฤติกรรมการรับประทานอาหารโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน สำหรับกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน

ผู้แต่ง

  • กาญจณา พรหมทอง
  • อาภรณ์ทิพย์ บัวเพ็ชร
  • ปิยะนุช จิตตนูนท์

คำสำคัญ:

การส่งเสริมพฤติกรรมการรับประทานอาหาร, การเสริมพลังชุมชนเป็นฐาน, กลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน

บทคัดย่อ

โรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องการการดูแลอย่างต่อเนื่องและยาวนาน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารของกลุ่มเสี่ยงให้มีความเหมาะสมร่วมกับการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นการป้องกันหรือชะลอเวลาไม่ให้กลุ่มเสี่ยงกลายเป็นกลุ่มผู้ป่วย และยังเป็นการพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น การวิจัยเชิงพัฒนานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโปรแกรมเสริมพลังชุมชนในการส่งเสริมพฤติกรรมการรับประทานอาหารสำหรับกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน โปรแกรมนี้ถูกพัฒนาขึ้นจากแบบจำลองวิถีการสร้างเสริมสุขภาพชุมชนร่วมกับหลักการเลือกชนิดการรับประทานอาหารและการทบทวนหลักฐานเชิงประจักษ์ ระดับ 1 และ 2 จำนวน 18 เรื่อง นักวิจัยได้ประยุกต์ใช้ขั้นตอนการพัฒนาตามกรอบแนวคิดไอโอวา โมเดล (The Iowa Model) ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะพัฒนาโปรแกรมและระยะประเมินคุณภาพของโปรแกรม ผลการวิจัยพบว่า องค์ประกอบของโปรแกรมที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1) แนวปฏิบัติของโปรแกรม 3 ระยะ คือ ระยะสะสมพลัง  ระยะสมดุลพลัง  และระยะแสดงพลัง 2) แผนกิจกรรมของโปรแกรม จำนวน 6 ครั้ง และ 3) สื่อและคู่มือลดเสี่ยงเลี่ยงเบาหวานด้วยอาหารจานสุขภาพ ผลการประเมินความตรงเชิงเนื้อหาโดยผู้เชี่ยวชาญ  พบว่ามีดัชนีความตรงของเนื้อหา = 1.00 มีข้อเสนอแนะในการปรับเนื้อหาให้เข้าใจได้ง่ายและชัดเจน เมื่อประเมินความเป็นไปได้ในการใช้โปรแกรมจากพยาบาลวิชาชีพ พบว่าโปรแกรมสามารถปฏิบัติได้ ร้อยละ 100 มีข้อเสนอแนะในการปรับภาษาให้เข้าใจง่าย  ปรับลดระยะเวลาการจัดกิจกรรมและขั้นตอนการดำเนินงานให้สั้นและกระชับ ซึ่งโปรแกรมที่พัฒนานี้ควรมีการทดสอบประสิทธิผลต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-30