ฉากชีวิตการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน ภายใต้บริบทชุมชน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทย

ผู้แต่ง

  • เบญจยามาศ พิลายนต์
  • เจริญชัย หมื่นห่อ
  • เนาวรัตน์ เสนาไชย
  • สงกรานต์ นักบุญ
  • สุขมาพร พึ่งผาสุก

คำสำคัญ:

โรคเบาหวาน, การดูแลตนเอง, ชุมชน

บทคัดย่อ

การดูแลตนเองเป็นปัจจัยสำคัญของการควบคุมการเกิดภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งผู้ป่วยเบาหวานในชุมชนจะมีฉากชีวิตการดูแลตนเองที่หลากหลาย การวิจัยครั้งนี้ เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาฉากชีวิตการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันติดตามและดูแลสุขภาพส่วนบุคคลสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานบนสมาร์ทโฟน เลือกผู้ให้ข้อมูลแบบเจาะจงจากชุมชนแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ประกอบด้วย ผู้ให้ข้อมูลหลัก 65 คน ได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ดูแล เจ้าหน้าที่หน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ส่วนผู้ให้ข้อมูลรองมี 1 คน คือ ผู้ใหญ่บ้าน เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกต การสนทนากลุ่ม การบันทึกภาคสนาม และการศึกษาเอกสาร เก็บข้อมูลจนกระทั่งข้อมูลอิ่มตัว คือวิเคราะห์ข้อมูลแล้วไม่พบข้อมูลใหม่ ตรวจสอบคุณภาพข้อมูลโดยการตรวจสอบแบบสามเส้าด้วยการตรวจสอบข้อมูลจากหลายแหล่ง เก็บข้อมูลด้วยวิธีการที่หลากหลาย และตรวจสอบทานข้อมูลโดยผู้ให้ข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา  ผลการศึกษา พบว่า เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดการดูแลตนเอง จำแนกได้ 3 ฉากชีวิต ได้แก่ 1) ยามปกติ ผู้ป่วยเบาหวานจะดูแลตนเองเท่าที่ทำได้ เช่น ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย รับประทานยา และไปตรวจตามนัด 2) ยามฉุกเฉิน ผู้ป่วยเบาหวานจะดูแลตนเองเบื้องต้น และไปพบแพทย์หากอาการไม่ทุเลา และ 3) ยามอยากหาย จะแสวงหาวิธีการดูแลรักษาตนเองเพิ่มเติม เช่น การรักษาด้วยยาสมุนไพรและการซื้อยารับประทานเอง เป็นต้น ฉากชีวิตของผู้ป่วยเบาหวานที่ค้นพบในชุมชนแห่งนี้ สามารถนำมาออกแบบการจัดบริการสุขภาพ และวางแผนส่งเสริมการดูแลตนเองในผู้ป่วยเบาหวานต่อไป

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-30