ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะซึมเศร้าและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุที่พักอาศัยอยู่ใน สถานสงเคราะห์คนชรา จังหวัดนครราชสีมา

ผู้แต่ง

  • สุหทัย โตสังวาลย์

คำสำคัญ:

คุณภาพชีวิต, ภาวะซึมเศร้า, ผู้สูงอายุ, สถานสงเคราะห์คนชรา

บทคัดย่อ

การพักอาศัยในสถานสงเคราะห์คนชรามีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย เช่น การรับรู้ตราบาปในการพักอาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์คนชรา และการรับรู้ถึงคุณภาพชีวิตที่ต่ำ เป็นต้น อย่างไรก็ตามการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพชีวิตกับภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุในกลุ่มนี้ยังมีจำนวนจำกัด และมีการศึกษาเฉพาะในประชากรหญิง ดังนั้นการวิจัยแบบตัดขวางนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อคุณภาพชีวิตและภาวะซึมเศร้าของผู้สูงอายุที่พักอาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์คนชราในจังหวัดนครราชสีมา ทำการวิจัยในกลุ่มผู้สูงอายุ จำนวน 85 คน ที่อาศัยอยู่ในสถานสงเคราะห์คนชรา จำนวน 2 แห่ง โดยใช้แบบวัดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุไทยแบบสั้น (Thai version of the 15-item of Geriatric Depression Scale [TGDS-15]) มีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ .82 และแบบวัดคุณภาพชีวิตขององค์การอนามัยโลกแบบย่อ (Thai version of the World Health Organization Quality of Life Questionnaire [WHOQOL-BREF-THAI]) มีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ .84 วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างภาวะซึมเศร้าและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุโดยใช้สถิติสหสัมพันธ์เพียร์สัน ผลการวิจัยพบว่า ผู้สูงอายุมีภาวะซึมเศร้า ร้อยละ 32.9 (n = 28) และมีคุณภาพชีวิตโดยรวมอยู่ในระดับดี ร้อยละ 61.17 (n = 52) นอกจากนี้ยังพบว่า ในภาพรวมคุณภาพชีวิตมีความสัมพันธ์ทางลบกับภาวะซึมเศร้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = -0.583, p < 0.001) ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ในระดับปานกลาง โดยผู้สูงอายุที่มีระดับคะแนนของคุณภาพชีวิตสูง จะมีระดับคะแนนของภาวะซึมเศร้าต่ำ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีการพัฒนาและส่งเสริมให้ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา มีระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีขึ้น ซึ่งอาจจะมีส่วนช่วยลดและป้องกันภาวะซึมเศร้าในประชากรกลุ่มนี้

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-12-30