พฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากเด็กของผู้ปกครองและสภาวะฟันผุของเด็กก่อนวัยเรียน อำเภอแก่งคอย จ.สระบุรี
บทคัดย่อ
ปัญหาฟันน้ำนมผุเป็นปัญหาสุขภาพช่องปากที่สำคัญในเด็กก่อนวัยเรียน ผู้ปกครองเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพช่องปากเด็กในวัยนี้ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาวะฟันน้ำนมผุ พฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากและความสัมพันธ์ของสภาวะฟันน้ำนมผุกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากเด็กของผู้ปกครอง กลุ่มตัวอย่าง คือ เด็กก่อนวัยเรียนและผู้ปกครองในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี 183 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบสำรวจสภาวะฟันน้ำนมผุ แบบสัมภาษณ์พฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากและพฤติกรรมการบริโภคอาหารของเด็ก วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน (Pearson Correlation Coefficient)
ผลการศึกษาสภาวะฟันน้ำนมผุ พบว่าเด็กก่อนวัยเรียน มีค่าเฉลี่ยฟันผุ ถอน อุด (dmft) เท่ากับ 5.21 ซี่ต่อคน ด้านพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากเด็ก พบว่า ผู้ปกครองเพียงร้อยละ 24.1 ตรวจดูความสะอาดเป็นประจำหลังให้เด็กแปรงฟันเอง ผู้ปกครองร้อยละ 66.1 แปรงฟันให้เด็กทุกวัน ผู้ปกครองร้อยละ 68.3 ไม่เคยเช็ดทำความสะอาดช่องปากหลังเด็กดื่มนม นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กส่วนใหญ่บริโภคอาหารที่ไม่มีประโยชน์และอาจส่งผลให้เกิดฟันผุเช่น ขนมถุง ปีโป้และนมเปรี้ยว เป็นประจำร้อยละ 73.2, 64 และ 56.3 ตามลำดับ จากการศึกษาความสัมพันธ์พบว่าสภาวะฟันน้ำนมผุกับพฤติกรรมด้านการทำความสะอาดช่องปากเด็กของผู้ปกครองมีความสัมพันธ์กันทางลบอยู่ในระดับต่ำ (r=-0.26, p-value<0.01) สภาวะฟันน้ำนมผุไม่มีความสัมพันธ์กับความถี่ในการบริโภคอาหารของเด็ก (r=-0.10, p-value=0.186)
จากผลการวิจัยควรมีการส่งเสริมให้ผู้ปกครองตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันการเกิดสภาวะฟันน้ำนมผุในเด็กก่อนวัยเรียน เน้นบทบาทผู้ปกครองในการดูแลสุขภาพช่องปากเด็กให้หันมาใส่ใจและลงมือปฏิบัติในการแปรงฟันให้เด็กอย่างจริงจังเพื่อป้องกันการเกิดโรคฟันผุในเด็กก่อนวัยเรียน
* โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลศรีสุข ต.ศรีสุข อ.ศรีณรงค์ จ.สุรินทร์
** ฝ่ายทันตกรรม โรงพยาบาลกันตังอ.กันตัง จ.ตรัง
*** วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดขอนแก่น
**** ฝ่ายทันตสาธารณสุข อ.แก่งคอย จ.สระบุรี
Downloads
ฉบับ
บท
License
บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของ วารสารสุขภาพและการศึกษาพยาบาล ซึ่งดำเนินการโดยวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา
ข้อความที่ปรากฏในบทความในวารสารเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับกองบรรณาธิการวารสารสุขภาพและการศึกษาพยาบาล หรือวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี นครราชสีมา แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใดๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว