การพัฒนาระบบการบริการโดยการมีส่วนร่วมของร้านยา ในการป้องกันและแก้ไขปัญหา โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในเขตอำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม

ผู้แต่ง

  • เกศมุกดา ไตรรัตน์

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ : เพื่อพัฒนาระบบการบริการโดยการมีส่วนร่วมของร้านยา ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในเขตอำเภอเมืองมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม

วิธีดำเนินงานวิจัย : เป็นการวิจัยเชิงปฎิบัติการ กลุ่มผู้มีส่วนร่วมในการศึกษามี 3 กลุ่มดังนี้ 1) กลุ่มพัฒนาระบบการบริการ จำนวน 14 คน 2) กลุ่มเป้าหมายหลักร้านยา จำนวน 27 ร้าน 3) กลุ่มผู้ได้รับบริการตามระบบบริการที่พัฒนาขึ้นจำนวน 86 คน ดำเนินการ ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2559 ถึง 30 เม.ย 2560 โดยมีเครื่องมืออบรมข้อมูล ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับการมารับบริการที่ร้านยา แบบบันทึกอาการเจ็บป่วยและยาที่ใช้ในการรักษา แบบบันทึกผลการติดตามการรักษาและการกลับเป็นซ้ำ แบบทดสอบความรู้ก่อนและหลังได้รับการบริการดูแลรักษา ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีค่าความเที่ยง 0.77 แบบประเมินความพึงพอใจการบริการดูแลรักษา ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มีค่าความเที่ยง 0.79 แบบบันทึกการสนทนากลุ่มสำหรับผู้พัฒนาระบบการบริการ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนาเป็นร้อยละและค่าเฉลี่ย

ผลการวิจัย : การพัฒนาระบบการบริการโดยการมีส่วนร่วมของร้านยาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ร้านยาสามารถเป็นหุ้นส่วนการร่วมให้บริการที่ดีและขยายไปถึง 27 ร้าน โดยต้องมี 1) การพัฒนาการดูแลเชื่อมโยงจากร้านยาสู่โรงพยาบาล 2) การพัฒนาการรักษาและติดตามการกลับเป็นซ้ำโดยร้านยา 3) พัฒนาการป้องกัน และแก้ไขปัญหาโดย    โรงพยาบาลมหาสารคามต้องสนับสนุน ผังการประสานส่งต่อให้บริการระหว่างร้านยาและคลินิกโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โรงพยาบาลมหาสารคาม คู่มือการบริการดูแลรักษา ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สำหรับบุคลากรในร้านยา แผนการติดตามผลการรักษาและการกลับเป็นซ้ำ และให้การสนับสนุนถุงยางอนามัยอย่างต่อเนื่องส่วนการประเมินผลการบริการ พบว่าการรักษาเป็นไปตามคู่มือการบริการดูแลรักษา ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์สำหรับบุคลากรในร้านยา และมีการส่งต่อการรักษา จำนวน 70 ราย ร้อยละ 35.71 ร้านยาสามารถรักษาได้เองจำนวน 86 ราย ร้อยละ 43.88 คือ เชื้อราในช่องคลอด ร้อยละ 37.21 หนองในเทียม ร้อยละ 19.77 โรคหนองใน ร้อยละ18.60 เริมอวัยวะเพศ ร้อยละ 9.30 พยาธิในช่องคลอด ร้อยละ 8.14 ซึ่งผลการรักษาโดยรวมผู้ป่วย มีอาการหาย/ดีขึ้น และผู้ป่วยที่เป็นเริมอวัยวะเพศ หิด หูดหงอนไก่ มีอาการหาย/ดีขึ้นทุกราย การเข้ารับบริการที่ร้านยาของผู้ป่วยทำให้มีความรู้เพิ่มมากขึ้น อัตราการกลับเป็นซ้ำพบ ร้อยละ 5.81 และผลความพึงพอใจโดยรวมอยู่ในระดับมาก

สรุปผล : ผลการศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการพัฒนาระบบการบริการโดยการมีส่วนร่วมของร้านยาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์นั้น สามารถให้การบริการดูแลรักษา เพิ่มพูนความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและการปฏิบัติตัว รวมถึงลดการกลับเป็นซ้ำของโรค สร้างความพึงพอใจและสามารถติดตามและส่งต่อผู้ป่วยเพื่อการรักษาที่
ต่อเนื่องได้

คำสำคัญ : โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์,การมีส่วนร่วมของร้านยา

References

สำนักระบาดวิทยา. สรุปรายงาน.กรมควบคุมโรคติดต่อ;2557. เข้าถึง http://boe.moph.go.th/

ดารินทร์ อารีย์โชคชัย. ปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นประเทศไทย ปี พ.ศ. 2553-2560. รายงานการเฝ้าระวังทางระบาดวิทยาประจำสัปดาห์ ปีที่ 46 ฉบับที่ 5 : 13 กุมภาพันธ์ 2558 .

สุชาติ ทองแป้น. ประสิทธิผลการดูแลรักษาผู้ติดเชื้อเอดส์/เฮชไอวี ที่คลินิคบ้านร่มเย็น โรงพยาบาลมหาสารคาม 2554; 8(1) : 39-43.

มาลี โรจน์พิบูลย์สถิต. การจ่ายยารักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในร้านขายยาในเขตจังหวัดสงขลา.(วิทยานิพนธ์เภสัชศาสตร์มหาบัณฑิต) สงขลา : มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์; 2541.

ครองขวัญ ดวงพาวังและคณะ. ผลการบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ ณร้านยาเภสัชกร ชูศักดิ์ อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม. ขอนแก่น ศรีนครินเวชสาร 2555;27 (1)

นิสิต คงเกริกเกรียติและคณะ. แนวทางการดูแลรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ พ.ศ.2558. กรุงเทพฯ :หจก.สำนักพิมพ์อักษรกราฟฟิคแอนด์ดีไซน์; 2558

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2019-07-15