การพยาบาลผู้ป่วยภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้นที่ได้รับการใส่บอลลูนห้ามเลือด Sengstaken Blakemore tube : กรณีศึกษา 2 ราย

ผู้แต่ง

  • ปัทมาวดี แก้วโพนเพ็ก

บทคัดย่อ

ความเป็นมา : ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้น เป็นภาวะฉุกเฉินที่เกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน และมีคามรุนแรง เกิดจากหลอดเลือดขอดในหลอดอาหารโป่งพองและแตกเฉียบพลัน ซึ่งเป็นภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยโรคตับแข็งและเป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิต การใส่บอลลูนห้ามเลือด (Sengstaken-Blakemore tube: SB tube) พร้อมกับการพยาบาลที่ถูกต้อง รวดเร็วทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยพ้นจากภาวะวิกฤติได้

วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาการดำเนินของโรค การรักษา ข้อวินิจฉัยทางการพยาบาล การพยาบาลและผลลัพธ์การพยาบาล

วิธีการศึกษา : กรณีศึกษาเปรียบเทียบผู้ป่วย 2 ราย เป็นผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้นที่ได้รับการใส่บอลลูนห้ามเลือด (SB tube) เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลขอนแก่น ระหว่างเดือนเมษายน ถึง พฤศจิกายน 2560 เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย ข้อมูลจากเวชระเบียน การสังเกต การซักประวัติผู้ป่วยและญาติ และการใช้กระบวนการพยาบาลกำหนดข้อวินิจฉัยทางการพยาบาลโดยใช้กรอบแนวคิดแบบแผนสุขภาพของกอร์ดอน

ผลการศึกษา : ผู้ป่วย 2 ราย เข้ารับการรักษาด้วยภาวะอาเจียนเป็นเลือดสด ช็อก ได้รับการรักษาและการใส่บอลลูนห้ามเลือดจนพ้นภาวะวิกฤติ ข้อวินิจฉัยทางการพยาบาลที่พบ ได้แก่ 1) ภาวะช็อกจากการเสียเลือด  2) ภาวะพร่องออกซิเจน 3) ภาวะเลือดออกง่าย 4) ญาติและผู้ป่วยวิตกกังวล 5) เสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนการหายใจล้มเหลว 6) เสี่ยงต่อการเกิดภาวะเลือดออกซ้ำในทางเดินอาหารส่วนต้น 7) ไม่สุขสบายเนื่องจากใส่สาย (SB tube) 8) เสี่ยงต่อการได้รับสารอาหาร 9) ความสามารถในการดูแลตนเองลดลง และ 10) ขาดความพร้อมในการปฏิบัติตัวเมื่อกลับบ้าน นอกจากนี้พบปัญหากรณีศึกษาที่ 1 มีภาวะเลือดเป็นกรด และภาวะถอนแอลกอฮอล์ กรณีศึกษาที่ 2 มีภาวะไม่สมดุลของอิเลคโตรไลท์ และไม่สุขสบายเนื่องจากมีไข้  การพยาบาลแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1) ระยะวิกฤติ เพื่อให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากภาวะช็อก 2) ระยะดูแลต่อ เพื่อการป้องกันเลือดออกซ้ำป้องกันการติดเชื้อ และระยะที่ 3) ระยะจำหน่าย เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนพฤติกรรม

ข้อเสนอแนะ : ควรจัดทำแนวปฏิบัติการพยาบาลผู้ป่วยภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้นที่ได้รับการใส่บอลลูนห้ามเลือด (SB tube) และควรพัฒนาสมรรถนะพยาบาลวิชาชีพในการพยาบาลผู้ป่วยภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้นที่ได้รับการใส่บอลลูนห้ามเลือด (SB tube)

คำสำคัญ : การพยาบาล  ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้น  บอลลูนห้ามเลือด

References

บุษยารัตน์ ลอยศักดิ์. ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนต้นซ้ำ. วิทยานิพนธ์ปริญญาพยาบาลศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาการพยาบาลใหญ่. :บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา; 2558.

วิชิต วิริยะโรจน์. การทำนายผลลัพธ์ของผู้ป่วยที่มีเลือดออกทางเดินอาหารส่วนต้นโดยไม่ต้องส่องกล้อง โดยใช้ลักษณะทางคลินิกของ Rockall score และ Blatchford score. Journal of Medicine and Health Sciences. 2011; 18(3) : 127-136.

อภิชาต พิริยการนนท์. ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน Upper Gastrointestinal Bleeding. ใน : จักรพันธ์ ปรีดานนท์, บรรณาธิการ. Common surgical problems in general practice. ขอนแก่น : ขอนแก่นการพิมพ์; 2554 : 78-98.

ศิวะพร ไชยนุวัติ. Portal hypertension and complications. ใน : สุพจน์ วงศ์ประสบชัย,ทวีศักดิ์ แทนวันดี และ สถาพร มานัสสถิตย์, บรรณาธิการ. Clinical practice in gastroenterology. กรุงเทพฯ: คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล; 2555 : 518-540.

พิมพ์จิตร์ กาญจนสินธุ์ และวาริดา จงธรรม์. การพยาบาลผู้ป่วยที่มีเลือดออกทางเดินอาหารระยะวิกฤต. ใน : รัชนี เบญจธนังและคณะบรรณาธิการ. การพยาบาลศัลยศาสตร์วิกฤต. กรุงเทพ : บริษัท พี.เอ.ลีฟวิ่ง จำกัด; 2558. หน้า 214-274.

อัสนี ทองอยู่. Surgical Aspect of Upper Gastrointestinal Bleeding. เอกสารประกอบการบรรยาย. [ออนไลน์] 2561. https://www.medtu.tv/department/ surgery/ wp-content/uploads/sites/3/2018/11/Surgical-Aspect-of-UGIB.pdf

Kim YD. Management of Acutevariceal bleeding. Clinical Endoscopy[serial online] 2014; 47(4) : 308-314.

Rosemurgy AS. Zervous EE. Management of variceal hemorrhage. CurrProblSurg[serial online] 2003; 40 : 253-344.

วิพร เสนารักษ์. การวินิจฉัยการพยาบาล. พิมพ์ครั้งที่ 12. ขอนแก่น : ห้างหุ้นส่วนจำกัดขอนแก่นการพิมพ์; 2551

สมพร ชิโนรส. การพยาบาลผู้ป่วยที่มีเลือดออกจากหลอดเลือดดำโป่งพองที่หลอดอาหาร และกระเพาะอาหาร. ใน: สมพร ชิโนรส, บรรณาธิการ. การพยาบาลทางศัลยศาสตร์ เล่มที่ 1. พิมพ์ครั้งที่ 6 (ฉบับปรับปรุง). กรุงเทพฯ: รำไทยเพรสจำกัด; 2557 : 1-14.

อมฤต ตาลเศวต. Treatments of Esophageal varies. ใน: ณัฐพล สันตระกูล, อมฤต ตาลเศวต, ศุภกานต์ เตชะพงศธร, ประยุทธ ศิริวงษ์, บรรณาธิการ. ศัลยศาสตร์วชิรพยาบาล. กรุงเทพฯ: โฆษิตการพิมพ์; 2556 : 233-245.

Downloads

เผยแพร่แล้ว

2020-01-07