ตัวยาในตำรับยาหอบหืดจากตำรายาแผนโบราณของร้อยตำรวจเอกเปี่ยม บุณยะโชติ
Main Article Content
บทคัดย่อ
โรคหอบหืดเป็นโรคที่บั่นทอนสุขภาพของประชาชน ในปี พ.ศ. 2558 มีผู้ป่วยถึงร้อยละ 7 ของประชากร จึงเป็นโอกาสที่จะมีการพัฒนายาแผนไทยเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาโรคหอบหืดดังกล่าว ร.ต.อ. เปี่ยม บุณยะโชติ ได้รวบรวมตำรับยาไว้ในตำรายาแผนโบราณ 12 เล่ม ระหว่างปี พ.ศ. 2514 - 2525 การคัดเลือกตำรับยาหอบหืดโดยจัดทำโครงสร้างข้อมูล 2 ระดับคือ ระดับตำรับยา และระดับตัวยาในตำรับ พบตำรับยาหอบหืดไม่ซ้ำกันจำนวน 56 ตำรับ 224 ตัวยา สามารถจำแนกกลุ่มตัวยาหอบหืดที่อยู่ในกลุ่มตำรับจำนวนตัวยาน้อยแสดงว่าต้องให้ผลโดยตรงต่อโรคหอบหืด คือ มี กลุ่มตำรับที่มี 1 ถึง 3 ตัวยา เสมือนเป็นยาบรรเทาอาการเป็นยาขยายหลอดลมที่ออกฤทธิ์เร็ว กลุ่มตำรับ 1 ตัวยา จัดเป็นตัวยาเดี่ยว คือ แมงป่องช้าง ขนเพชรคน และ ผมคน ส่วนตัวยาที่ปรากฏในกลุ่มตำรับ 2 ตัวยา มี 10 ตัวยา คือ ผมคน จันทน์แดง จุนสี กระทือ ขอนดอก ตำลึง น้ำตาล น้ำปูนใส สะบ้า และหอยนางรม สำหรับกลุ่มตำรับ 3 ตัวยา มีทั้งสิ้น 6 ตัวยา คือ ตำลึง ขี้เหล็ก ชุมเห็ดใหญ่ น้ำผึ้ง มดแดง และ หมูสามชั้น สำหรับกลุ่มตำรับที่มีตัวยา 4-5 ตัวยา 6-10 ตัวยา และ 11-43 ตัวยา มีจำนวนตัวยา 36 59 และ 191 ตัวยาตามลำดับ ซึ่งตำรับที่มีตัวยามากกว่า 3 ตัวยา นอกจากตัวยาตรงต่อโรคแล้ว ก็จะมีตัวยาบำรุงร่างกายด้วย