ผลของตำรับยารักษาโรคเบาหวานต่อระดับน้ำตาลในกระแสเลือดและ เคมีในเลือดในกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน

Main Article Content

อาทิตย์ ลีประโคน
สุธีรา อินทเจริญศานต์

บทคัดย่อ

โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus; DM) เกิดจากการทำงานของฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ของร่างกายผิดปกติ ส่งผลให้กระบวนการนำน้ำตาลในกระแสเลือดเข้าสู่เซลล์ได้ไม่เต็มประสิทธิภาพทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ และหากมีน้ำตาลในกระแสเลือดสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะส่งผลให้เกิดอาการแทรกซ้อนต่อระบบต่าง ๆ เช่น ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง หลอดเลือดตีบและมีผลต่อการเผาผลาญไขมันในร่างกายอีกด้วย การศึกษาครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของตำรับยารักษาโรคเบาหวานต่อระดับน้ำตาลในกระแสเลือดและการเปลี่ยนแปลงทางเคมีในเลือดของกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน


ผลการวิจัยพบว่า เมื่อกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลินได้รับประทานตำรับยารักษาโรคเบาหวานผ่านไป 21 วัน มีค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในกระแสเลือดโดยตรวจด้วยวิธี Fasting blood sugar (FBS) ก่อนรับประทานอยู่ที่ 110.03±5.97 มิลลิกรัม/เดซิลิตร และหลังรับประทานมีค่าเฉลี่ยระดับน้ำตาลในกระแสเลือดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) อยู่ที่ 94.80±5.45 มิลลิกรัม/เดซิลิตร (จัดอยู่ในกลุ่มที่มีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดปกติ) และมีค่าเคมีในเลือด คือ ระดับไขมันและการทำงานของไตไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ผู้วิจัยได้ศึกษาอาการข้างเคียงระหว่างและหลังการรับประทาน พบว่า มีจำนวน 1 ใน 30 คน ที่มีอาการคันและมีผื่นเล็กน้อย ซึ่งสามารถอนุมานได้ว่าตำรับยารักษาโรคเบาหวานสามารถลดระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ และไม่น่าจะมีหรือมีน้อยมากสำหรับผลข้างเคียงระหว่างและหลังรับประทาน

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ