การศึกษาความคงตัวและฤทธิ์เบื้องต้นของสารสกัดจากตำรับสมุนไพรไทย ในการต้านเชื้อจุลชีพที่ก่อโรคบนผิวหนัง

Main Article Content

พิรุณรัตน์ แซ่ลิ้ม
ซาฟาวี มะแม
นัสรีย์ แวมะ
มูฮำหมัดเปาซี คาเร็ง
อนัส เบ็ญจมาตร
ศิริรัตน์ ศรีรักษา

บทคัดย่อ

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคงตัวและศึกษาฤทธิ์ต้านเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรคบนผิวหนังของสารสกัดจากตำรับสมุนไพรไทยรักษาโรคผิวหนัง การเตรียมตำรับสมุนไพรนั้นจะใช้วิธีการเตรียมโดยการตั้งตำรับยาตามศาสตร์ทางการแพทย์แผนไทย ซึ่งประกอบด้วยตัวยาตรง ตัวยาช่วย ตัวยาประกอบ ตัวยาชูกลิ่น ชูรสและแต่งสี สมุนไพรในตำรับต้องเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์โดยตรงในการรักษาโรคผิวหนัง เมื่อได้สูตรตำรับสมุนไพรแล้วก็นำมาสกัดสารสำคัญด้วยวิธีการสกัดโดยใช้เครื่องไมโครเวฟ (Microwave-assisted extraction; MAE) และใช้ตัวทำละลายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green solvent) ได้แก่ น้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์ อีกทั้งน้ำมันมะพร้าวนั้นยังมีฤทธิ์ในการบำรุงผิวพรรณรวมถึงรักษาโรคผิวหนังอีกด้วย จากนั้นนำสารสกัดจากตำรับสมุนไพรที่ได้ไปศึกษาความคงตัวในสภาวะต่าง ๆ และศึกษาฤทธิ์การต้านเชื้อจุลชีพที่ก่อโรคบนผิวหนังด้วยวิธี Agar dilution ที่ระดับความเข้มข้น 0.0025-5 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ผลการศึกษาพบว่า สารสกัดจากตำรับสมุนไพรมีความคงตัวดีเมื่อเก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด ป้องกันแสงที่อุณหภูมิห้อง และสารสกัดนี้มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย Staphylococcus aureus ATCC 6538 และ Propionibacterium acnes DMST 14916 รวมถึงเชื้อรา Trichophyton mentagrophytes DMST 19735, Candida albicans ATCC 10231 มีค่าความเข้มข้นต่ำสุดที่ต้านเชื้อ (Minimal Inhibitory Concentration; MIC) เท่ากับ 5, 0.5, 0.5 และ 5 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร ตามลำดับ ผลการศึกษานี้สามารถใช้เป็นข้อมูลเบื้องต้นในการนำสารสกัดจากตำรับยาสมุนไพรสูตรนี้ไปต่อยอดพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีความคงตัวที่ดีสำหรับรักษาการติดเชื้อราและแบคทีเรียบริเวณผิวหนัง และอาจจะต่อยอดไปถึงการศึกษาประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์สมุนไพรในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราและเชื้อแบคทีเรียต่อไปในอนาคต

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ